ไทย-เทศแห่ลงทุน รพ.ภูธร

คอลัมน์ดาต้าภูธร

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลและสถานบริการพยาบาลเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงการขยายอาคารเพิ่ม เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น และต้องการรับการบริการทางการแพทย์ ทั้งจากสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าปัจจุบันมีหน่วยงานบริการสุขภาพทั่วประเทศกว่า 38,512 แห่ง โดยราว 35% เป็นบริการสุขภาพของรัฐ และอีก 65% เป็นหน่วยบริการสุขภาพของเอกชน

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 พบว่ามีนิติบุคคลที่จดทะเบียนดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและสถานบริการพยาบาลทั้งหมด 750 ราย คิดเป็น 0.1% ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ โดยมีมูลค่าทุนราว 108,730.39 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของบริษัทจำกัด 661 ราย หรือคิดเป็น 88.13% มูลค่าทุนกว่า 87,380 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนสูงกว่า 5 ล้านบาท ทั้งหมด 347 ราย ทั้งนี้การเพิ่มทุนของธุรกิจนี้มีความผันผวน เช่นเดียวกับมูลค่าทุนจดทะเบียน ซึ่งปี 2562 (มกราคม-มีนาคม) มีการเพิ่มทุนมูลค่ากว่า 1,139 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 106.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

และเมื่อเจาะลึกลงไปในแง่ของที่ตั้ง กรุงเทพมหานครยังคงครองแชมป์อันดับ 1 มี 341 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 45.74% มูลค่าทุน 54,114.29 ล้านบาท รองลงมา คือ ภาคกลาง 122 แห่ง มูลค่าทุน 19,539.11 ล้านบาท ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 78 แห่ง มูลค่าทุน 6,813.35 ล้านบาท ภาคตะวันออก 68 แห่ง มูลค่าทุน 7,542.86 ล้านบาท ภาคเหนือ 65 แห่ง มูลค่าทุน 8,984.29 ล้านบาท ภาคใต้ 59 แห่ง มูลค่าทุน 9,432.36 ล้านบาท และภาคตะวันตก 17 แห่ง มูลค่าทุน 2,304.13 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ภาพการลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลไทยที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลและสถานบริการพยาบาลนั้น มีมูลค่าการลงทุน 1,141.71 ล้านบาท คิดเป็น 1.05% ของการลงทุนในธุรกิจนี้ โดยต่างชาติที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ มูลค่า 356 ล้านบาท ฮ่องกง มูลค่า 233 ล้านบาท และอเมริกา มูลค่า 210 ล้านบาท ขณะเดียวกันในส่วนของรายได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2560 เฉลี่ย 7.46% ต่อปี