ชาวสวนมะพร้าวอ่วม รัฐไฟเขียวนำมะพร้าวเข้าป้อนอุตสาหกรรม ราคาร่วง 7-8 บาท/ลูก

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายกิตติวงศ์ แสงสุวรรณ นักวิชาการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานกะทินำเข้ามะพร้าวผลจากประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 186.49 ตัน ตามกรอบการค้า WTO ผ่านท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปผลิตน้ำกะทิส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 54 โดยผู้ประกอบการสามารถเรียกคืนจากกรมศุลกากรได้หากมีการส่งออกภายใน 6 เดือนนั้น ทราบว่ามีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศมายังโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 แสนผล โดยซื้อมะพร้าวที่เข้ามาเฉลี่ยราคาลูกละ 6 บาท บวกภาษี 54% มีราคาผลละ 9.24 บาท เท่ากับราคามะพร้าวในประเทศ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมอ้างว่าต้องนำเข้าเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้พิจารณาเงื่อนไขของการนำเข้า กรณีต้องใช้ผลผลิตในประเทศก่อน

“จากการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีเงื่อนไข WTO แต่ไม่มีประเทศไหนนำสินค้าเข้ามาเพื่อทุบราคาผลผลิตในประเทศ ในลักษณะของการทุ่มตลาด ยกเว้นประเทศไทยที่หน่วยงานรัฐแหกตาชาวสวนแล้วหลายครั้ง ทั้งที่เคยแจ้งว่าจะไม่มีการนำมะพร้าวเข้าไม่ว่ากรอบการค้าใดก็ตาม จนกว่าจะมีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่าผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ แต่กระทรวงพาณิชย์อาจมีข้ออ้างว่าการนำเข้ายังไม่ได้รับรายงานจากระทรวงเกษตรฯทั้งข้อมูลการผลิตในภาพรวมหรือการตรวจสุขอนามัยของด่านตรวจพืช ส่วนโรงงานบางแห่งก็พยายามเอาเปรียบเกษตรกร โดยอ้างวัตถุดิบไม่พอ เป็นการฉ้อฉลเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด” นายกิตติวงศ์กล่าว

นายกิตติวงศ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทราบว่านอกจากมีมะพร้าวลูกที่นำเข้ามา ยังมีกะทิแช่แข็งที่นำเข้ามาอีกจำนวนมากโดยใช้ช่องโหว่เงื่อนไขการนำเข้า ทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกต่ำลงอีกเหลือเพียงผลละ 7-8 บาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ล่าสุดคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว จัดการประชุมที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าว การป้องกันการนำเข้าผิดกฎหมายและมาตรการป้องกันพิเศษภายใต้ความตกลงเกษตรขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งพิจารณาสถานการณ์การผลิต การตลาดและความต้องการใช้ การทบทวนการบริหารนำเข้ามะพร้าวตามกรอบ AFTA ในปี 2562 ทบทวนเงื่อนไขกรณีห้ามนำเข้ามะพร้าวไปให้นิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปแปรสภาพ โดยการกะเทาะนอกโรงงาน และการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่แจ้งขอนำเข้ามะพร้าวผล

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์