ปาณิศา สีดาสมุทร์ ต่อยอด “เปลือกหวาย” ไทย สู่กระเป๋างานคราฟต์ “แบรนด์ KEAR”

สัมภาษณ์

การสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองนับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางอาชีพคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในวงการแฟชั่นที่ผู้ประกอบการไทยเริ่มแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สินค้าหลากหลายชนิดมีการออกคอลเล็กชั่นเฉพาะตัวเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำสำหรับลูกค้า เช่นเดียวกับ “ปาณิศา สีดาสมุทร์” ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ วัย 27 ปี เจ้าของแบรนด์กระเป๋า “KEAR Store” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เส้นทางการนำสินค้าไปแข่งในตลาดไม่ง่ายนัก อย่าง KEAR Store ถือว่าเป็นแบรนด์กระเป๋าน้องใหม่ที่ยังคงอยู่ในกลุ่มลูกค้าเฉพาะ และมีอายุได้เพียง 1 ปี 4 เดือนเท่านั้น

“ปาณิศา” เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์กระเป๋านั้น เกิดจากความชื่นชอบส่วนตัวในเรื่องกระเป๋าและแฟชั่น โดยจะมีความสนใจมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำจากธรรมชาติ พอมีโอกาสไปเรียนและทำงานที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับงานดีไซน์ ก็พบกับงาน Art Exhibition หรือ Entrepreneurial Event ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มทำธุรกิจจึงเข้าไปร่วมฟังได้ พบปะพูดคุยกับผู้คนหลากหลายประเทศ เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรม ทัศนคติ และมุมมองเกี่ยวกับการทำงานที่หลากหลายของแต่ละคน จึงเกิดคำถามกับตัวเองและกล้าเริ่มทำในสิ่งที่อยากทำ ก่อนตกผลึกเป็นกระเป๋าในลักษณะงานคราฟต์ตอบโจทย์ชาวต่างชาติที่ทำด้วยฝีมือของคนไทย จากวัตถุดิบในประเทศไทย

“เราเริ่มตั้งแบรนด์ปลายปี 2560 เนื่องจากได้มีโอกาสเห็นกระเป๋าฝีมือคนไทยที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ตัวกระเป๋ามีความประณีต สวยงามมาก แต่รูปลักษณ์และฟังก์ชั่นการใช้งานยังคงจำกัดเฉพาะกลุ่ม ทำให้เริ่มคิดต่อยอด ช่วงนั้นงานคราฟต์แฟชั่นออกมาเยอะมาก เป็นแรงบันดาลใจให้สร้างผลงานเป็นของตัวเองขึ้นมา เนื่องจากเห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้ว่าสินค้าไทยยังไปได้ไกล ประเทศเรารวยเรื่องวัตถุดิบธรรมชาติ และมีให้เลือกหลากหลาย จึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำอยู่ในซิดนีย์แล้วกลับมาบ้านเพื่อลองผิดลองถูก

หลังจากผลิตโปรดักต์ได้แล้ว 2 เดือนแรกก็เริ่มส่งออกไปทดลองวางขายที่ซิดนีย์ในลักษณะของการฝากขาย ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคอนเน็กชั่นมากนัก และทำการขายตรงผ่านทางออนไลน์ หน้าเว็บไซต์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก จริง ๆ เราเริ่มโปรโมตแบรนด์ตั้งแต่ยังไม่มีโปรดักต์เลยด้วยซ้ำ เราพยายามรวบรวมฟอลโลเวอร์ และกลุ่มคราฟต์เลิฟเวอร์เอาไว้ให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะเริ่มขาย ลูกค้าบางรายเมื่อมีโอกาสเดินทางมายังประเทศไทยก็มาสั่งซื้อด้วยตัวเอง”

“ปาณิศา” บอกว่า แบรนด์ KEAR Store ใช้วัสดุธรรมชาติอย่างเปลือกหวายจากจังหวัดอ่างทอง วัสดุทำขึ้นใหม่บางส่วน และหนังมีทั้งหนังไทยและหนังนำเข้าจากอิตาลี ส่วนโรงงานผลิตอยู่ที่ไทย

ตอนนี้โปรดักต์ยังมีเพียงคอลเล็กชั่นแรกชื่อว่า “Bano” มีทั้งหมด 8 สีด้วยกัน ราคาเริ่มต้นที่ 7,800 บาท ไปจนถึง 9,800 บาท เป็นหนังรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น กลุ่มลูกค้าเป็นสาวในเมือง (empowered women) จัดอยู่ในกลุ่มเพียวริสต์ (purist) อยู่ในช่วงอายุ 26-55 ปี ที่ชื่นชอบงานคราฟต์งานประณีต มั่นใจในสไตล์ มีอุดมคติของตนเอง คนกลุ่มนี้สนใจงานคุณภาพมากกว่าสนใจแบรนด์ดัง ที่ผ่านมาสินค้าของเราได้รับความนิยมมากจากลูกค้าในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, รัสเซีย และสโลวะเกีย โดยเฉพาะจากเมืองสำคัญในสหรัฐอเมริกา เช่น นิวยอร์ก, ไมอามี, แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเมืองแรกที่สั่งกระเป๋าในช่วงครึ่งปีแรก

ส่วนประเทศในแถบเอเชีย มีญี่ปุ่น, เกาหลี, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ลูกค้าบางรายพอใจในคุณภาพก็กลับมาซื้อซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ซื้อขายผ่านทางอินสตาแกรมและเว็บไซต์ เฉลี่ยแล้วเป็นลูกค้าชาวต่างชาติประมาณ 70% ส่วนลูกค้าคนไทยช่วงครึ่งปีแรกมีเพียง 30% เท่านั้น ปัจจุบันเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยมากยิ่งขึ้น และผลิตสินค้าเป็นลอตที่สองแล้ว ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 90 ใบ และตั้งเป้าว่าจะต้องคืนทุนภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า รวมถึงพร้อมผลิตคอลเล็กชั่นใหม่ คาดว่าจะได้เห็นประมาณปลายปี 2562 นี้ แต่จะยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นออเทนติกสไตล์ เน้นใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ออกแบบในรูปทรงโมเดลไทย และตอบโจทย์ฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลากหลายกลุ่มช่วงอายุ

“เราไม่ได้เน้นที่จะทำให้ได้กำไรแบบจริงจังในช่วงแรก เพราะเราเองก็กำลังทดลองศึกษาตลาด ตั้งแต่กระเป๋าใบแรกที่ขายไปในวันนั้น จนถึงวันนี้เราเรียนรู้ไปกับมันทุกใบ ทุกขั้นตอน ขายได้ หรือลูกค้าชม ต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุข พัฒนาให้สินค้าและบริการดียิ่งขึ้นไป บางครั้งสินค้ามีปัญหาต้องเรียนรู้ที่จะแก้ไขและรับผิดชอบให้ไวที่สุด เพราะลูกค้าไม่ได้ซื้อเพียงโปรดักต์ แต่ลูกค้าซื้อความเชื่อใจไปด้วย ส่วนในอนาคตอยากจะแตกไลน์ไปยังโปรดักต์อื่น ๆ เพื่อให้แบรนด์มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และมีวอลุ่มของราคาที่ต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถจับต้องแบรนด์ได้มากกว่านี้ โดยคิดว่าจะไปเปิดตลาดกับภาครัฐ ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ น่าจะไปได้ดีกว่าทำการตลาดด้วยตัวเอง อีกทั้งวิธีทำการตลาดสำหรับกลุ่มลูกค้าคนไทยและต่างประเทศจะแตกต่างกัน เราจึงเริ่มออกอีเวนต์ ส่งผลงานเข้าไปประกวดเพื่อเป็นการขับเคลื่อนแบรนด์ให้ง่ายขึ้น”