ดีลเลอร์มอ’ไซค์ใต้หนี้พุ่งดึงไฟแนนซ์รับมือ

มือสองขายดี - ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ที่ซบเซา เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาลม์ น้ำมัน ตกต่ำ ส่งผลให้กระทบต่อยอดซื้อรถจักรยานยนต์ แต่ในทางตรงกันข้ามรถจักรยานยนต์มือสองกลับขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาด

ดีลเลอร์พัทลุง “เลิก” ปล่อยสินเชื่อรถมอ”ไซค์ หลังถูกลูกค้าเบี้ยวหนี้เพียบ เหตุภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยาง-ปาล์มราคาดิ่ง ส่งผลยอดขายไตรมาสแรกปี”62 อืด เฉลี่ยขายได้เดือนละ 1,000 คัน ล่าสุด โยนให้ “ไฟแนนซ์” รับช่วงต่อ เผยในวิกฤตมีโอกาส ความต้องการตลาดมอ”ไซค์มือสองพุ่ง คนไม่อยากซื้อรถใหม่ สร้างภาระหนี้

นายเอกภัทร ภัทร์รัศมี ประธานกรรมการ บริษัท เอกภัทร สามเอก จำกัด จ.พัทลุง ผู้แทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า ยามาฮ่า ซูซูกิ อดีตผู้แทนจำหน่ายรถยนต์นิสสัน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หลายบริษัท รวมถึงร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยกเลิก และบางรายชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ เนื่องจากลูกค้าไม่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ จึงมีการส่งสินเชื่อไปให้กับบริษัทไฟแนนซ์ ซึ่งมีการจัดทำแคมเปญ ส่งเสริมการขายการตลาดเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด มีตั้งแต่ราคาดาวน์ต่ำประมาณ 1,900-2,000 บาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาวะตลาดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ใน จ.พัทลุง และภาคใต้หลายจังหวัดยังอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ขึ้นอยู่กับรายได้จากภาคการเกษตรเป็นหลัก เมื่อราคายางพารา และปาล์มน้ำมันตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในพื้นที่ นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่เกิดความเชื่อมั่นในภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังไม่ลงตัว ส่งผลให้คนที่มีเงินยังไม่อยากใช้เงิน คนที่ไม่มีเงินกลับมีรายได้ลดลง และมีหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อประเมินจากตัวเลขยอดขายในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) เฉพาะ จ.พัทลุง มียอดขายประมาณ 1,000 คัน/เดือนโดยเฉลี่ย คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ทั้งปี 2562 อาจจะใกล้เคียงปี 2561

“พื้นที่ภาคใต้ และ จ.พัทลุง ลูกค้าที่ซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เมื่อราคาสินค้าเกษตรไม่ดี ยอดขายทรงตัวและตกลงมาตลอด สังเกตได้จากยอดขายรถปีที่ผ่าน ๆ มาตั้งแต่ปี 2559-2561 ใกล้เคียงกัน จริง ๆ ตอนนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ภาพรวมยอดขายได้ชัดเจนนักว่า จะต่ำกว่าหรือเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ทิศทางตลาดรถจะขึ้นอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำได้ตามที่ประกาศนโยบายเอาไว้กับประชาชนไว้ เช่น จะผลักดันราคาปาล์มน้ำมัน ราคา 4-5 บาท/กก. ยางพารา 60-65 บาท/กก. รวมถึงจะมีการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ รับประกันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในจังหวัดต่าง ๆ จะกระเตื้องดีขึ้นทันที” นายเอกภัทรกล่าวและว่า

สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดของรถจักรยานยนต์แต่ละยี่ห้อนั้น ฮอนด้ายังมีสัดส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 90% รองลงมายามาฮ่า 8% และอีก 2% เป็นซูซูกิ และอื่น ๆ

แหล่งข่าวจากวงการผู้ค้ารถจักรยานยนต์ เปิดเผยว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการค้าในภาคใต้ต่างมีมาตรการเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อขายรถจักรยานยนต์ เนื่องจากมีความเสี่ยงถูกลูกค้าเบี้ยวหนี้ และมีมูลหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หลายรายจะโอนเรื่องไปให้บริษัทที่รับทำไฟแนนซ์เป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกัน มีผู้ประกอบการค้ารถจักรยานยนต์บางรายหันไปดำเนินธุรกิจในลักษณะครบวงจร คือ ทั้งบริษัทจำหน่ายรถใหม่ รถมือ 2 และประกอบการไฟแนนซ์ ทำให้มีรถอยู่ในการดูแลสินเชื่อจำนวนหลายร้อยคัน โดยมีการตั้งเป้าพยายามคัดเลือกลูกค้าชั้นดีที่ไม่มีความเสี่ยงมากกว่าลูกค้าที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสงสัยว่าจะเป็นหนี้สูญ เพื่อไม่ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงมากนักหากเกิดความเสียหายขึ้น

ทางด้านเจ้าของร้าน ช่างโตยานยนต์ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความต้องการรถจักรยานยนต์มือ 2 ในตลาดมีสูงมาก แต่ทางร้านไม่สามารถหารถป้อนให้ได้ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ในตระกูลฮอนด้า เช่น ฮอนด้า เวฟ 125 ไอ รองลงมาเวฟ 125 ดรีม ถึงกับขาดตลาด เพราะที่ผ่านมาโรงงานผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ผู้ใช้รถเก่าไม่ยอมขายออกมา ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อซื้อใหม่ต้องมีการผ่อนชำระ จึงชะลอการซื้อรถคันใหม่ไว้ก่อน จึงทำให้รถมือ 2 เกิดการขาดแคลนมาก

“ตอนนี้ 125 เวฟ ไอ ท่อดำ รถมือ 2 ราคา ประมาณ 30,000 บาทสภาพดี รถนี้มีอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งขณะนี้ยุติการผลิตไปแล้ว สมัยที่ออกมาจากโรงงานใหม่ ๆ ราคาประมาณ 50,000 บาท”

อนึ่ง สำหรับส่วนแบ่งการตลาดรถจักรยานยนต์ในจังหวัดพัทลุง แบ่งเป็น หจก.พัทลุงไทยยนต์กลการ มาอันดับต้น ๆ รองลงมาเป็นบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด บริษัท ตั้งใจกลการ จำกัด และบริษัท เอกภัทร สามเอก จำกัด ตามลำดับ