กยท. ชี้ ราคายางฟื้น หลังดันใช้ในประเทศเพิ่ม พร้อมเดินหน้ารักษาเสถียรภาพต่อเนื่อง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ยางพาราในปี 2562 เดือนมกราคม – ปัจจุบัน ว่า ราคาน้ำยางสดปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากมาตรการด้านยางพาราของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เช่น โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ที่นำน้ำยางสดไปทำถนนพาราซอยซีเมนต์ในหมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะทาง 300,000 กิโลเมตร เป้าหมายใช้น้ำยางสดประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำยางในประเทศออกจากตลาดนำไปสร้างสาธารณูปโภคให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ราคาน้ำยางสดในปัจจุบันอยู่ในระดับ 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซียพบว่าราคาน้ำยางสดของไทยสูงกว่า รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ที่ทำให้นักลงทุนอุตสาหกรรมยางโดยเฉพาะยางล้อเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยางล้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าราคายางของไทยเคลื่อนไหวตามความต้องการใช้จริง

นายเยี่ยม กล่าว่า ด้านราคายางแผ่นรมควันและยางก้อนถ้วยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กยท. เข้าไปประมูลยางแผ่นรมควันที่ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี อย่างต่อเนื่องตั้งเดือนตุลาคม 2561 ถึงปัจจุบัน โดยซื้อในราคาที่เหมาะสมและชี้นำตลาด เพื่อนำไปขายให้กับโรงงานที่ยังมีความต้องการซื้อเพราะปริมาณยางในตลาดลดลง เนื่องจากผลผลิตยางถูกนำไปใช้แปรรูปในประเทศมากขึ้น ทำให้ราคายางแผ่นรมควันตลาดกลางปรับตัวสูงขึ้นจาก 40 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่ 55 บาทต่อกิโลกรัท ส่วนราคาส่งออก หรือราคายางที่ส่งมอบ ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ (เอฟโอบี)​ สูงถึง 60 บาทกิโลกรัม

นอกจากนี้ กยท. ส่งเสริมให้เกษตรกรนำยางดิบมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยียาง เพื่อประโยชน์ในด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางที่ดีมีคุณภาพ ส่งขายทั่วโลก อันนี้คือแผนงานระยะยาวที่ กยท. ต้องสนับสนุนสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน นักวิจัยยาง และนักลงทุนที่ต้องมาบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์