“สภาวิศวกร” คุ้ยต้นตอไฟป่าเหนือ ชงรัฐบาลผ่าทางตันป้องกัน ก.ค.นี้

แม้วันนี้ “ควันไฟ” ในพื้นที่ภาคเหนือจะจางลง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2562 ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนให้หลายภาคส่วนตระหนัก และพยายามหาทางป้องกันแก้ไขก่อนที่จะปะทุขึ้นอีกครั้งในปีหน้า

โดยเฉพาะการทำงานของ “คณะทำงานหาแนวทางป้องกันแก้ไขไฟป่าและฝุ่นพีเอ็ม 2.5” ผ่านทางคณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรรมต่อเนื่อง สภาวิศวกร โดยมี ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ รองเลขาธิการสภาวิศวกรเป็นประธาน ได้ตระเวนจัดเวทีเสวนาและหาข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดไฟป่าและฝุ่นละอองหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดดำเนินการ 4 ครั้ง ล่าสุดได้มีการจัดครั้งที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในการเสวนาเรื่อง “ตามหาความจริงเรื่องไฟป่าและฝุ่นพีเอ็ม 2.5” ก่อนจะมีการจัดเสวนาครั้งที่ 4 ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ เพื่อสรุปผลนำเสนอให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

นายประจญกล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าช่วงฤดูร้อนปี 2562 นี้ถือว่าหนักและรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นใน จ.เชียงราย หลังจากปีก่อน ๆ มีจุดความร้อนหรือฮอตสปอตเกิดขึ้นเพียง 19 และ 17 ครั้งตามลำดับแต่ปรากฏว่าตั้งแต่มาตรการห้ามเผาทุกชนิดระหว่างวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. ปรากฏว่าเกิดฮอตสปอตขึ้นร่วม 1,000 กว่าครั้ง และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน พื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.พาน และมีผู้บาดเจ็บอีก 40 กว่าคน ส่วนหนึ่งเพราะไม่เกิดไฟไหม้หนักติดต่อกันมา 2 ปีทำให้เกิดเชื้อไฟอย่างดีกระนั้นสิ่งที่น่าสงสัยและต้องถอดรหัสกันให้ได้คือการที่ในช่วงมาตรการห้ามเผาไม่ได้มีการเผาในพื้นที่ทางการเกษตรเลย โดยชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก แต่ปรากฏว่าไฟกลับไปโหมลุกไหม้ในป่าลึกและลุกลามจนเรียกว่าเป็น “งูไฟ” หรือลามไปเรื่อย ๆ บางครั้งเจ้าหน้าที่ดับได้แล้วก็คุกรุ่นอยู่ภายในแล้วกลับมาลุกไหม้อีก บางครั้งต้องรอให้ไหม้จากที่สูงเพื่อรอให้ดับตรงแนวกันไฟด้านล่างภูเขาเพื่อความปลอดภัย และสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกระจายทั่วทุกจุดในพื้นที่ 18 อำเภอของจังหวัดจึงเป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป

นายประจญกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ทาง จ.เชียงราย ตั้งเป้าว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีนับจากนี้ทางจะทุ่มเทเวลาเพื่อหาสาเหตุและวิธีการป้องกันเหตุในปีถัดไปให้ได้ โดยในส่วนของฝ่ายปกครองได้ให้แต่ละอำเภอและท้องถิ่นถอดบทเรียนแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดข้อมูลจากระดับล่างขึ้นบนทั้ง 18 อำเภอคาดว่าได้ข้อมูลครบทั้งหมดภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำมาประกอบกับข้อมูลของสภาวิศวกรที่จัดเวทีครั้งนี้และข้อมูลทางวิชาการของสถาบันการศึกษา เพื่อจะนำไปปรับใช้เป็นมาตรการต่อไปซึ่งคาดว่ามาตรการจะปรับเปลี่ยนไปอย่างมากและเข้มงวดกวดขันกันมากขึ้นต่อไป

“อย่างไรก็ตาม เป็นโจทย์สำคัญที่ว่าในพื้นที่นั้นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านของชาวบ้านจะเผาเพื่อเอาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อปลูกพืชต่าง ๆ ช่วงก่อนที่ฝนจะตกเพราะไม่เช่นนั้นวัชพืชจะเปียกน้ำฝนทำให้เผายาก ส่งผลทำให้เกิดกลุ่มควันและคนในเมืองก็จะเดือดร้อนแล้วไม่อยากให้เผา แต่เมื่อไปถามชาวบ้านที่เผาก็บอกว่าถ้าไม่ให้เผาพวกเขาก็อดตายกันพอดีเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งวัชพืชและเพลี้ยที่เป็นศัตรูพืชก็มีอยู่เต็มถ้าเผาก็ทำลายได้หมด ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญอย่างมากที่จังหวัดจะได้อาศัยข้อมูลจากหลายฝ่ายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดไฟป่าและฝุ่นละอองมากเหมือนในปีนี้อีกต่อไป” นายประจญกล่าว

ด้าน ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ กรรมการสภาวิศวกรและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่าโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูล ต้นเหตุและสาเหตุ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไข ซึ่งจากการรับทราบสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องเผาทำให้ทราบว่าพอมีวิธีแก้ไขได้อยู่โดยขณะที่ตนเคยทำงานให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการวิจัยเรื่องการนำเอาวัชพืชมาทำถ่านกัมมันต์โดยหญ้าหรือวัชพืชก็มีกรรมวิธีนำมาจัดการเป็นถ่านได้และยังนำมาเป็นปุ๋ยก็ได้

รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล. กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันในปีนี้ทำให้ มฟล.ต้องหยุดทำการเรียนการสอนระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย.เป็นครั้งแรก ดังนั้น จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาคขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะตามลำพัง มฟล.คงไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด โดยกรณีสถาบันการศึกษาก็จะมีผลงานวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดดำเนินการและมีนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่ต้องการทำวิจัยในเรื่องนี้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวทางการนำวัชพืชมาเพิ่มมูลค่าวัชพืชแทนการเผาเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะหากว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าได้แล้วเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเผาอีกและจะทำให้ปัญหาฝุ่นละอองลดลง แล้วทำให้บรรยากาศของ จ.เชียงราย สดใสขึ้นในปี 2563 ต่อไป