มกอช.บุก “ยโสธร” จัดอบรมผลิตข้าวมาตรฐานหนุนนาแปลงใหญ่

มกอช. เปิดอบรมสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงแคนใหญ่ เสริมองค์ความรู้การผลิตข้าว GAP/อินทรีย์ การจัดทำเอกสารระบบควบคุมภายในกลุ่มได้อย่างถูกต้อง เตรียมพร้อมขอการรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม มุ่งสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบ “นาแปลงใหญ่”

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า การสร้างความยั่งยืนให้การผลิตข้าวไทย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เวลา ความรู้ และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อให้การผลิตข้าวมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมคือ การมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกร โดยการส่งเสริมให้รวมกลุ่มผลิตและบริหารจัดการในรูปแบบ “นาแปลงใหญ่” เพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ห่วงโซ่การผลิตข้าวแบบเดิม โดยการผสานเชื่อมโยงกันตั้งแต่เริ่มการจัดการการเพาะปลูกข้าวไปจนถึงการตลาด รวมทั้งกระบวนการรับรองการผลิตข้าวแบบกลุ่ม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้รวดเร็วขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรต้องมีระบบการผลิตและระบบควบคุมภายในกลุ่ม (Internal Control System) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับรองว่ากิจกรรมการผลิตของเกษตรกรเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและเชื่อถือได้ เพราะการมีระบบควบคุมภายในของกลุ่มเกษตรกร จะช่วยให้กลุ่มมีการบริหารงานที่มีคุณภาพ

ดังนั้น มกอช. จึงได้จัดโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ยโสธร และสุรินทร์ จำนวน 8 กลุ่ม สมาชิกรวม 175 คน โดยการจัดอบรมครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้มาตรฐานสินค้าเกษตรและระบบควบคุมภายใน ให้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตรอินทรีย์ดงแคนใหญ่ ตำบลดงแคนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวปลอดภัย จำนวน 30 คน โดยได้รับเกียรติจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจากสำนักกำหนดมาตรฐาน และกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. และศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ด กรมการข้าว ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้

ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (มกษ.4401-2551) มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่มที่ 4 : ข้าวอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 4-2553) และระบบควบคุมภายในสำหรับกลุ่มเกษตรกร (Internal Control System) รวมทั้งมีความรู้และทักษะในการจัดทำเอกสารระบบควบคุมภายในตามมาตรฐานการผลิตข้าว GAP/อินทรีย์ และเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเกษตรกรในการขอการรับรองแบบกลุ่มขอบข่ายการผลิตข้าว GAP/อินทรีย์ จากกรมการข้าวต่อไป


“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจ นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง สามารถถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำแก่สมาชิกภายในกลุ่มให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม และมีความพร้อมที่จะขอการรับรองแบบกลุ่มจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ”เลขาธิการ มกอช. กล่าว