“ภูเก็ต” หวังยกระดับ “สนามบิน” ทัดเทียม “ฮาเนดะ-นาริตะ” ญี่ปุ่น

ท่าอากาศยานภูเก็ต จัดโครงการสื่อมวลชนภูเก็ตสัญจร@JAPAN ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2562 ไปศึกษาดูงานท่าอากาศยานฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น นำโดย เรืออากาศตรีธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต นางกัลยรัตน์ สุทธิพัฒนกิจ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานภูเก็ตเข้ารับฟังการบรรยายสรุปจากคณะผู้บริหารท่าอากาศยานฮาเนดะ Haneda Airport โดยมี Yuika Haraguchi Assistant Manager Corporate Planning Tokyo International Air Terminal Corporation (TIAT) และคณะให้การต้อนรับ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจการบริหารสนามบินและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

ท่าอากาศยานฮาเนดะเริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1978 เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นทะเลได้มีการถมทะเลปรับสภาพพื้นที่ทำเป็นท่าอากาศยาน และยังอยู่ใกล้ทะเล มีการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบทางเสียงของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงขนส่งท่องเที่ยวรับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานฮาเนดะถือเป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางของเที่ยวบินภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ด้วยเที่ยวบินปลายทางกว่า 49 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการกว่า 80 ล้านคนต่อปี คอนเซ็ปต์การออกแบบเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้สนามบินได้อย่างสะดวกสบาย ทุก ๆ วันจะมีการเก็บข้อมูลผู้โดยสารที่มาใช้บริการในวิธีต่าง ๆ และประเมินผลนำไปปรับปรุงทุก 2 ปี เพื่อให้ท่าอากาศยานเป็นมิตรกับผู้โดยสารทุกคน และให้ความสำคัญกับพนักงานในการคัดเลือกพนักงานดีเด่นในแต่ละเดือน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น จึงได้รับการจัดอันดับรางวัลเป็นสนามบินระดับ 5 ดาวจากสถาบันประเมินคุณภาพของ Skytrax ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ในการจัดลำดับสนามบินถือเป็นอันดับ 1 ในหลายด้านด้วยกัน

ที่สำคัญคงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นกับการตกแต่งร้านค้าผสมผสานกับประเพณีวัฒนธรรม ภายในท่าอากาศยานฮาเนดะ ประกอบด้วย อาคารเทอร์มินอล 3 อาคาร อาคารที่ 1 และอาคารที่ 2 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารเทอร์มินอลที่ 3 เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และมี 4 รันเวย์ มีร้านค้าต่าง ๆ รวมทั้งดิวตี้ฟรี ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่ม เพื่อต้อนรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก TOKYO 2020 PARALYMPIC GAMES ที่จะมีขึ้นในปี 2563 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

เรืออากาศตรีธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า การเดินทางทัศนศึกษาท่าอากาศยานฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ โดยสนามบินฮาเนดะมีลักษณะภูมิศาสตร์และการตั้งของสนามบินคล้ายคลึงกับสนามบินภูเก็ต มีแนวคิดการให้บริการของสนามบินฮาเนดะอย่างเป็นกันเอง เพื่อให้ผู้มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย มีความสะอาด พร้อมอุปกรณ์การให้บริการสมบูรณ์แบบ ติดอันดับมาตรฐานของสนามบินนานาชาติในระดับโลก

ทางท่าอากาศยานภูเก็ตพยายามจะปรับปรุงพัฒนาให้ทัดเทียมกับทางสนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะ แต่เนื่องจากสนามบินภูเก็ตอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการในเฟส 2 ต่อไปในปลายปีนี้ โดยใช้งบประมาณปี 2563 เป็นต้นไป วงเงิน 6,200 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติแล้วรอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการเปิดประมูลหาผู้รับเหมา โดยจะขยายตัวอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีสะพานเทียบเพิ่มขึ้นอีก 3 สะพานเทียบ มีหลุมจอดขนาด E อีก 2 หลุมจอด ถ้าก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 25 ล้านคนต่อปี ในระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป

“การมาทัศนศึกษาเยี่ยมชมสนามบินฮาเนดะครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อจะนำไปพัฒนาและเสริมสร้างให้สนามบินภูเก็ตมีศักยภาพทัดเทียมกับสนามบินอื่น ๆ ทั่วโลกต่อไป โดยในด้านกายภาพ การให้บริการ คิดว่าสนามบินภูเก็ตสามารถสู้สนามบินฮาเนดะได้ แต่ในด้านรันเวย์นั้นสนามบินภูเก็ตมีเพียง 1 รันเวย์และสั้น การที่จะขยายศักยภาพให้ทัดเทียมค่อนข้างลำบาก แต่เรื่องการให้บริการคิดว่าเราสู้เขาได้ ส่วนความรวดเร็วการตรวจคนเข้าเมืองมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน การให้บริการอาคารผู้โดยสาร สายการบิน ท่าอากาศยานรวดเร็วพอกัน ซึ่งทั้งสนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะมีการปรับปรุงพัฒนามายาวนานพอ สมควรมีความพร้อมในการกำจัดกลิ่นและจุดให้บริการได้สำรวจเพื่อนำไปใช้ที่สนามบินภูเก็ตต่อไป” เรืออากาศตรีธานีกล่าวและว่า

ปริมาณเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ต ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 297 เที่ยวบิน ยอดผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วจำนวน 3,000 คน อยู่ที่ 39,000 คน เทียบกับปี 2561 อยู่ที่ 36,000 คน คิดว่าปริมาณผู้โดยสารของสนามบินภูเก็ตเริ่มทยอยกลับเข้ามาแล้ว เพราะว่าจะเข้าตารางเที่ยวบินช่วงวินเทอร์ในเร็ว ๆ นี้ สำหรับสายการบินที่เข้ามากที่สุดมาจากประเทศจีน แต่มาไม่เต็มลำ ถ้าเทียบกับเที่ยวบินและจำนวนที่นั่งถ้ามาเต็มลำจะอยู่ที่ 50,000-60,000 คนต่อวัน


ส่วนการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ที่โคกกลอย จังหวัดพังงา ได้เตรียมพื้นที่ การวิเคราะห์และเตรียมงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว ต้องรอทางสภาพัฒน์พิจารณานำเสนอต่อ ครม.ชุดใหม่ให้การเห็นชอบต่อไป