“เอไอพลัส” ส่งรถไอติมไฟฟ้าลุย “ออสซี่” ผนึกแม็คโคร-เนสท์เล่นำร่องตลาดเมียนมาปีหน้า

โชว์รถไฟฟ้า - รักสันติ์ โชติพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอ พลัส จำกัด จ.สมุทรปราการ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายตู้ทำความเย็น ระบบทำความเย็น และรถไอศกรีมได้นำรถขายไอศกรีมพลังงานไฟฟ้า ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมาโชว์ภายในงานแสดงสินค้า THAIFEX ที่เมืองทองธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้

“เอไอ พลัส” ผงาดผลิต “รถไอศกรีมพลังงานไฟฟ้า” ส่งขาย “โคคา-โคลา” ในออสเตรเลีย พร้อมผนึกแม็คโคร-เนสท์เล่ ส่งรถขายไอศกรีมบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ประเดิมนำร่องเปิดตัวธุรกิจใน “เมียนมา” ปี 2563 พร้อมเร่งคิดค้นนวัตกรรมรถไอศกรีมไฟฟ้าระบบ “โซลาร์เซลล์” รับกระแสรักษ์โลก

“นายรักสันติ์ โชติพงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอไอ พลัส จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายตู้ทำความเย็น ระบบทำความเย็น และรถไอศกรีม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนดำเนินงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่หลายโครงการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือล่าสุดกับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นลูกค้าเดิมที่มีความแน่นแฟ้นในการดำเนินธุรกิจให้บริษัทเป็นผู้จัดทำระบบทำความเย็นในสโตร์ของแม็คโครทั่วประเทศ ด้วยการจัดทำสโตร์แห่งใหม่บริเวณลาดกระบัง โดยสโตร์ดังกล่าวถูกออกแบบให้สามารถควบคุมความเย็น และตรวจสอบระบบผ่านทางระบบออนไลน์ได้ เพื่อรองรับการเป็น IOT ในอนาคต ที่มีการใช้ระบบ 5G ทั้งนี้ สโตร์ดังกล่าวมีแผนจะเปิดใช้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2562

นอกจากนี้ มีแผนขยายตลาดผลิตรถขายไอศกรีมส่งออกไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว โดยจะเริ่มที่ประเทศเมียนมาเป็นอันดับแรกก่อน คาดว่าจะสามารถติดต่อทำสัญญาซื้อขายกับนายทุนในประเทศเมียนมาได้ภายในปี 2562 และเปิดตัวทำธุรกิจอย่างเป็นทางการในปี 2563 รวมถึงการพัฒนารถขายไอศกรีมพลังงานไฟฟ้า 30 คัน ส่งออกให้กับแบรนด์โคคา-โคลา ในประเทศออสเตรเลีย

“ที่ผ่านมาธุรกิจหลักของบริษัท เอไอ พลัส ที่เป็นที่รู้จักคือการทำรถขายไอศกรีมให้แบรนด์ใหญ่ ๆ ทั้งบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ “วอลล์” ของบริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด ในลักษณะสามล้อพ่วงข้าง แม้จะไม่ใช่รายใหญ่ แต่จำนวนมากกว่า 50% ของรถขายไอศกรีมในประเทศไทย ผลิตโดยบริษัท เอไอ พลัส ซึ่งดำเนินธุรกิจในลักษณะการร่วมมือกัน และดูแลหลายแบรนด์ใหญ่ การดำเนินงานจึงเป็นการเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทอื่นในบทบาทสนับสนุน อย่างกรณีการไปเปิดตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน เราจะยังอิงไปกับลูกค้าเดิมที่เป็นรายใหญ่ ๆ ที่ทำธุรกิจร่วมกันมานาน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัท เอไอ พลัสเติบโตมากกว่าปีละ 5% แม้ช่วง 2-3 ปีหลังจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่ยังพอไปได้ แม้จะไม่ดีนัก เพราะกำลังซื้อค่อนข้างฝืด” นายรักสันติ์กล่าว

ปั้นรถไฟฟ้าบุกออสเตรเลีย

นายรักสันติ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางบริษัท เอไอ พลัสได้มีการวิจัยและพัฒนาระบบทำความเย็นในรถขายไอศกรีมให้มีประสิทธิภาพ และก้าวหน้าทันกับกระแสโลกตลอดมา อย่างปัจจุบันกระแสรักษ์โลกมาแรง จึงนำไปสู่แนวทางการพัฒนารถขายไอศกรีมพลังงานไฟฟ้า โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน มีจุดเด่นที่การชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่เครื่องทำความเย็นในระยะเวลา 10 ชั่วโมง จากนั้นสามารถใช้งานได้กว่า 10 ชั่วโมง ทั้งยังมีการออกแบบฟังก์ชั่นเสริม เช่น ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน หรือใช้ระบบแรงคนเหมือนจักรยาน ไปจนถึงสามารถถอดประกอบเป็นรถเข็นได้ มีราคาตั้งแต่ประมาณ 12,000-60,000 บาท/คัน เปิดตัวได้ประมาณ 3-4 ปี แต่ผลตอบรับสำหรับตลาดภายในประเทศไทยยังไม่ดีนัก เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ในทางกลับกันผลิตภัณฑ์รถขายไอศกรีมพลังงานไฟฟ้าค่อนข้างตอบโจทย์ และสร้างจุดเด่นไปได้ดีในตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบันได้ส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลียแล้ว จำนวน 30 คัน ให้กับแบรนด์โคคา-โคลา ในประเทศออสเตรเลีย

“การที่บริษัท เอไอ พลัสสามารถผลิตสินค้าส่งออกไปยังออสเตรเลีย ซึ่งมีการวัดมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรมสูง ถือเป็นการปักธงยืนยันมาตรฐาน และประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ลูกค้าได้เห็น โดยใต้ฝาตู้ไอศกรีมของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปจะมีการติดโมล ระบุชื่อแบรนด์และเว็บไซต์ที่ชัดเจนของบริษัท เพื่อให้ผู้สนใจสามารถติดต่อซื้อได้ง่าย ข้อดีอีกประการของประเทศออสเตรเลียคือมีสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่ตรงข้ามกับประเทศไทย คือในช่วงฤดูหนาวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นฤดูร้อนของออสเตรเลีย ทำให้ระบบการผลิตและจัดจำหน่ายของบริษัทจะไม่ขึ้น-ลง แต่จะบาลานซ์ตลอดปี คนทำธุรกิจแบบที่อิงกับฤดูกาลมักจะชอบออสเตรเลีย เพราะจะช่วยให้ยอดการผลิตอยู่ตัว ไม่หนัก หรือเบาในฤดูใดฤดูหนึ่ง” นายรักสันติ์กล่าว

ส่วนรถรุ่นเก่าที่เป็นลักษณะพ่วงข้าง กฎหมายในหลายประเทศยังไม่ยอมรับในการจดทะเบียนพาหนะลักษณะจักรยานยนต์พ่วงข้าง แต่ก็ยังคงผลิตอยู่ในอัตราส่วน 50% ของการผลิตทั้งหมด และเป็นการผลิตเพียงส่วนพ่วง ผู้ซื้อต้องไปประกอบกับรถจักรยานยนต์เอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นเป็นการผลิตเองทั้งระบบ ส่วนการทำการตลาดของรถไฟฟ้ารุ่นใหม่นี้ โดยส่วนตัวเป็นวิศวกรไม่ได้ลุยทำการตลาดมากมายนัก จะอาศัยการเปิดตัวในงานต่าง ๆ เป็นหลัก เช่น งานแสดงสินค้า THAIFEX เพราะที่ผ่านมามีการทำธุรกิจร่วมกับบริษัทใหญ่ เช่น เนสท์เล่ และแม็คโครอยู่แล้ว ในด้านการค้าปลีกก็ใช้การทำตลาดผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก

เล็งนวัตกรรมรถโซลาร์เซลล์

ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปมีแนวทางจะจัดทำรถไอศกรีมไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากกระแสนวัตกรรมรักษ์โลกที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของน้ำหนักที่มาก การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่พื้นที่ต่อหน่วยยังไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงความเสี่ยงต่อการขับขี่หากจะติดตั้งบนหลังคารถไอศกรีม จึงต้องรอให้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยี ให้สามารถลดขนาดและน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงรูปทรงให้เอื้ออำนวยต่อการติดตั้งได้ในอนาคต