บูมยกระดับ “สนามบินชุมพร” ประเดิมรับ Charter Flight ปลายปี

สนามบินชุมพรก่อสร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ในสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากจังหวัดชุมพรประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นเกย์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 และเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2537 กว่าจะก่อสร้างเสร็จต้องประสบปัญหาการต่อต้านจากชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่าที่จะใช้ในการก่อสร้างสนามบินเป็นระยะ แต่ในที่สุดการก่อสร้างก็แล้วเสร็จ โดยเป็นสนามบินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าชุมโค-ป่าหนองไซ ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร ห่างตัวเมืองชุมพรไปทางเหนือประมาณ 38 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 2,485 ไร่ ขนาดทางวิ่งเครื่องบิน (runway) 2,100 เมตร ใช้งบประมาณ 530 ล้านบาท สามารถเปิดทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2541 มี “สายการบินพีบีแอร์” เปิดเที่ยวบินเป็นสายการบินแรก และวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2543 สนามบินชุมพรได้รับการประกาศเป็นสนามบินศุลกากร แต่สายการบินพีบีแอร์เปิดให้บริการได้ 2 ปีก็ยกเลิกไปเพราะประสบปัญหาไม่คุ้มทุน

จากนั้นมี “สายการบินแอร์อันดามัน” และ “สายการบินโซล่าร์แอร์” มาเปิดให้บริการ แต่ประสบปัญหาไม่คุ้มทุน จึงยกเลิกไปเช่นเดียวกัน ทำให้สนามบินชุมพรเงียบเหงาไปหลายปีจนมีผู้ประกอบการนำเที่ยวขนาดใหญ่ คือ บริษัท เรือเร็วลมพระยา จำกัด และผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน จ.ชุมพร ประสานกับ “สายการบินนกแอร์” และมี “สายการบินไทยแอร์เอเชีย” อีก 1 สายการบินเข้ามาเปิดเส้นทางการบินถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 ที่ประชุมบอร์ดบริหารของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ได้อนุมัติให้รับโอนสนามบินชุมพรจากกรมท่าอากาศยานมาบริหารต่อ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในการประชุมการเตรียมความพร้อมในการเปิดช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมือง ในการขอรับการตรวจลงตราด่านตรวจคนเข้าเมืองชุมพร ณ บริเวณเขตท่าอากาศยานชุมพร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องพื้นที่จัดตั้งสำนักงานของหน่วยงานต่าง ๆ งบประมาณดำเนินการ

นายวิบูลย์กล่าวว่า ท่าอากาศยานชุมพรมีความพร้อมให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศบินตรงมาลงที่ท่าอากาศยานชุมพรได้เลย ขณะนี้ท่าอากาศยานชุมพรซึ่งมีรันเวย์สนามบินยาว 2,100 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินแอร์บัสขนาดไม่เกิน 180 ที่นั่งได้ หน่วยงานที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องมี 4 หน่วยงาน คือ ตม. ศุลกากร สธ. และด่านกักกันพืช ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ไว้แล้ว เหลือเพียงการเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่เที่ยวบินที่เข้ามาต้องไม่ซ้ำซ้อนเรื่องเวลากับสายการบินในประเทศที่มาลงชุมพรซึ่งมีวันละ 3 เที่ยวบิน โดยจะเปิดโอกาสให้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (charter flight) ลงสนามบินชุมพรได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน เพราะเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง ขอยืนยันว่าขณะนี้ชุมพรมีความพร้อมประมาณ 90% เรื่องนี้ และถ้าชุมพรพร้อม 100% เมื่อไหร่จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและจากกลุ่มสแกนดิเนเวียเช่าเหมาลำเครื่องบินมาลงได้ทันที” นายวิบูลย์กล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิบูลย์ได้นำคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สำรวจการเตรียมความพร้อมของสนามบินชุมพร ในการรองรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศมาลงชุมพรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 โดยเปิดเผยว่า สมาคมท่องเที่ยวจังหวัดได้ขอให้มีการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศมาลงที่ชุมพร จึงประสานการขออนุญาตตั้งด่าน ตม. และเปิดช่องทางให้บุคคลเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร และกำหนดให้บุคคลหรือพาหนะที่จะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตม. ณ ท่าอากาศยานชุมพร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูสถานที่ กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบการตรวจสอบ และระบบรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ

“ทราบจาก ททท. สำนักงานชุมพรว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชุมพรในปี 2561 จำนวน 1,554,099 คน สร้างรายได้ให้ชุมพรเป็นเงิน 7,618.30 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 6.27% และมีรายได้เพิ่ม 10.16% ซึ่งในปี 2563 กำหนดเป้าหมายหานักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10% โดยเน้นการใช้จ่ายเพื่อให้เกิดรายได้เข้าสู่พื้นที่มากขึ้น ซึ่งการเปิดช่องทางของด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ท่าอากาศยานชุมพร เป็นการดึงนักท่องเที่ยวเขามาที่จังหวัดชุมพรโดยตรง สร้างรายได้ในพื้นที่ให้มากขึ้นนั่นเอง” นายวิบูลย์กล่าว


สนามบินชุมพรเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวชุมพร แม้ในช่วงแรก ๆ จะมีปัญหาล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ปัจจุบันกำลังกลายเป็นสนามบินที่มีหลายฝ่ายจับตามอง การเตรียมความพร้อมในการรับเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (charter flight) ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดชุมพร