“โกโก้” ท่าศาลาไร้อนาคต ตลาด-โรงงานเมินรับซื้อ

นายสุริยันต์ บุญญานุกูล เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่มีข่าวว่ามีการนำผลผลิตโกโก้ไทยที่ปลูกใน อ.ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ไปแปรรูปส่งประกวดแล้วชนะในเวทีโลก ส่งผลให้มีผู้สนใจปลูกโกโก้ขึ้นมานั้น ปัจจุบันใน อ.ท่าศาลามีการปลูกผสมกับพืชอื่นเพียง 2-3 ต้นต่อไร่ เนื่องจากเมื่อประมาณ 10 ปี ก่อนเคยนิยมปลูกกันมาก พยายามศึกษาหาตลาดกัน แต่ไม่มีโรงงานมารับซื้อไปแปรรูป ไม่มีตลาดแน่นอน จึงไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ชาวสวนจึงหันกลับไปปลูกยางพารา และทุเรียนแทน

“ยกตัวอย่างตำบลสระแก้วปลูกโกโก้รวมกันเพียง 50 ไร่ มีแหล่งรับซื้อขนาดเล็กที่อำเภอท่าศาลาเป็นธุรกิจในครัวเรือน ปัจจุบันนครศรีธรรมราชปลูกยางเป็นพืชหลัก มีพื้นที่รวม 9 แสนไร่ ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 6 แสนไร่ แต่ราคาไม่ดี ปัจจุบันทางจังหวัดสนับสนุนปลูกพืชอื่นที่มีตลาดส่งออก เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง เงาะ ส้มโอทับทิมสยาม” นายสุริยันต์กล่าว

ด้านนายคมสัน จำรูญพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 10 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกยางพารา เช่น โกโก้ กาแฟ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดความเสี่ยงในการปลูกยางพารา

ที่สำคัญจะ มีการนำแนวทางทำเกษตรแปลงใหญ่ มาพัฒนาสร้างให้เป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต ซึ่งพื้นที่อำเภอสังคม มีความเหมาะสมในการปลูกโกโก้ และกาแฟ ซึ่งมีทิศทางในตลาดโลกค่อนข้างสดใส เพราะคนทั่วโลกส่วนใหญ่นิยมดื่มกาแฟและโกโก้ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หรือทำโกโก้หมักส่งออก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรในเขตอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย 3 ตำบล กว่า 33 ราย ได้แก่ ตำบลนางิ้ว 24 ราย ตำบลบ้านม่วง 7 ราย และตำบลสังคมอีก 2 ราย หันมาปลูกโกโก้แทนการปลูกยางพารา ทั้งปลูกแซมกับพืชชนิดอื่นรวมพื้นที่ประมาณ 113 ไร่ โดยมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกยางพารา ทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ และใช้ตลาดนำการผลิต

มุมมองสมาคมกาแฟพิเศษไทย

นายอภิชา แย้มเกษร อุปนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand: SCATH) เปิดผยว่า โกโก้ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แม้เป็นเครื่องดื่มอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมแต่ยังไม่มีการส่งเสริมให้ปลูกอย่างแพร่หลายเหมือนกาแฟ

แม้ในงาน Thailand Coffee Fest 2019 ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนได้นำโกโก้เข้าร่วมงานแต่ยังไม่มากนัก เพราะกรรมวิธีปลูกและการโปรเซสยังต้องพัฒนาอีกมาก โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ 1. สายพันธุ์ที่ใช้ปลูก วิธีการดูแล 2.ขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้ผงโกโก้ ซึ่งมีความซับซ้อน รวมไปถึงวิธีการหมักเพื่อให้ได้รสชาติต่าง ๆ ทั้ง 2 ประเด็นนี้ผู้ประกอบการยังไม่มีความรู้ที่มากพอ

“การพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยยังอีกไกล แต่ละบริษัทมีวิธีการแปรรูปที่เป็นความลับเพื่อให้ได้รสชาติต่าง ๆ สายพันธุ์ไหนให้ผลผลิตคุณภาพดียังมีคนรู้น้อย เหมาะกับบ้านเราหรือเปล่ายังไม่มีการวิจัยชัดเจน ตลาดหรือผู้รับซื้อเช่นกัน” นายอภิชากล่าว

“ฉะนั้นคนที่เริ่มปลูกโกโก้ต้องหาข้อมูลให้มาก ต้องพัฒนา และโจทย์สำคัญคือเรื่องราคา ซึ่งการผลิตโกโก้ผลในระดับอุตสาหกรรมถูกกว่าที่ทำแบบโฮมเมด เพราะหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีสวนแล้วทำผลผลิตเองแพงกว่าซื้อแบบสำเร็จรูป หากพูดถึงเรื่องคุณภาพต้องบอกได้ว่าดีกว่าซื้อสำเร็จรูปอย่างไร”