เชียงรายจัดงาน “ข้าว” ครั้งแรก หนุนยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตครบวงจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เชียงรายเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของภาคเหนือและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญไม่แพ้ชาและกาแฟ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวมกันประมาณ 1,253,098 ไร่ ถือเป็นอันดับที่ 19 ของประเทศและมากที่สุดในภาคเหนือตอนบน แต่ละปีมีผลผลิตกว่า 740,000 ตัน สร้างรายได้เข้าจังหวัดปีละประมาณ 7,000 ล้านบาท ดังนั้น จ.เชียงราย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญจึงกำหนดยุทธศาสตร์ให้มีการส่งเสริม และพัฒนาการผลิตและตลาดครบวงจรขึ้น ซึ่งในปี 2562 นี้เป็นการจัดงานมหกรรมข้าวเชียงรายขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว และประชาสัมพันธ์ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างเครือข่าย ฯลฯ โดยข้าวเชียงรายที่มีชื่อเสียงคือข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีที่ได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้วหลายครั้ง และเป็นแหล่งกำเนิดและปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูเพียงแห่งเดียวซึ่งหาต้นตำรับจากแหล่งอื่นไม่ได้

นายภาษเดช กล่าวว่า ในอดีตนั้นมีการปล่อยให้เกษตรกรนำผลผลิตที่ได้จำหน่ายเป็นข้าวเปลือกผ่านโครงการต่างๆ หรือโดยเฉพาะจำหน่ายให้กับโรงสีข้าวต่าง ๆ ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ไม่ดีพอปัจจุบันจึงได้ส่งเสริมให้มีการจัดทำบรรจุภัณฑ์ ประชาสัมพันธ์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น โดยการจัดงานปีนี้ถือเป็นปฐมฤกษ์ ซึ่งหากว่าประสบความสำเร็จก็จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีต่อไป

นายอภิชาต เนินพลับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย กล่าวว่า สายพันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงของ จ.เชียงราย มีหลากหลายแต่ที่โดดเด่นคือข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือข้าวหอมมะลิซึ่งจะให้กลิ่นหอมเมื่อฤดูหนาวที่แห้งแล้งจะเหมาะกับพื้นที่และยังมีความนุ่มเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้มีข้าวพันธู์ กข.6 ข้าวเหนียวเขี้ยวงู โดยเฉพาะข้าวเหนียวเขี้ยวงูถือเป็นหนึ่งเดียวของเชียงรายที่มีการจดทะเบียนเอาไว้แล้ว ทำให้พื้นที่อื่นจะอ้างชื่อไปใช้ไม่ได้จึงต้องหาจากแหล่งที่ จ.เชียงราย ได้เพียงแห่งเดียว ดังนั้นจึงจะมีการส่งเสริมให้มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับการพูดไข่เค็มที่มีชื่อเสียงก็ต้องไปจาก อ.ไชยยา จ.สุราษฎร์ธานี

โดยหากการพูดถึงข้าวเหนียวเขี้ยวงูก็ให้ทราบกันว่ามาจากเชียงรายต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้าวพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งในปัจจุบันแหล่งปลูกใหญ่ในภาคเหนือคือ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ แต่ที่วางจำหน่ายตามศูนย์การค้าต่างๆ ล้วนไปจากเชียงรายเป็นส่วนใหญ่ซึ่งการจัดงานมหกรรมข้าวเชียงรายดังกล่าวก็จะเป็นการประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ของข้าวเชียงรายดังกล่าวได้เป็นอย่างดีต่อไป

ด้าน นายพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตร จ.เชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาผลผลิตข้าวมีสูงบ้างและตกต่ำบ้างสลับกันไปดังนั้นทางราชการจึงพยายามทำให้เกิดการลดต้นทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งแปรรูป ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ และการจัดงานมหกรรมก็จะทำให้เกิดการขยายช่องทางตลาดไปทั่วประเทศและทั่วโลกได้ เพราะจะมีกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและภาคธุรกิจภายในงานด้วย

โดยครั้งนี้มีตัวอย่างคือระหว่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาข้าวหนองอ้อช่วยชีวิตหมูป่า หมู่บ้านหนองอ้อ ต.โป่งผา อ.แม่สาย ซึ่งเคยมีบทบาทในช่วงปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา เมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทดน้ำจากถ้ำเข้าท่วมทุ่งนาของตัวเองและเมื่อเสร็จปฏิบัติการก็เสียสละด้วยการไม่ขอรับเงินช่วยเหลือชดเชยจากทางราชการด้วย

“ชาวนาดังกล่าวที่ไม่ขอรับเงินช่วยเหลือมีจำนวน 19 ราย ปัจจุบันร่วมกันผลิตข้าวและจัดทำบรรจุภัณฑ์โดยทางหน่วยงานราชการเข้าไปส่งเสริม ซึ่งในการจัดงานมหกรรมครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก็จะได้รับเลือกให้นำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงในงานด้วย และกรณีการจับคู่ทางธุรกิจก็ได้ร้านผัดไทยภูเก็ต บาย พ่อแดง ที่มีชื่อเสียงได้ทำเอ็มโอยูรับซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มนี้เพื่อนำไปปรุงเป็นผัดไทภูเก็ตดังกล่าว เริ่มต้นจากการนำไปจัดแสดงเป็นผัดไทสมุนไพร 5 สีกุ้งสดจานยักษ์ภายในงานมหกรรมครั้งแรกแล้วแจกให้ผู้เข้าชมได้ชิมฟรีจำนวน 5,000 จานเชื่อว่าจะคึกคักอย่างมาก” นายพรศักดิ์ กล่าวและว่าสำหรับการจัดงานครั้งที่ 2 ที่ อ.แม่สาย จะมีการเชิญผู้ประกอบการจากประเทศเมียนมาและ สปป.ลวา ที่อยู่ใกล้กันเข้าไปร่วมเพื่อเชื่อมโยงการตลาดอีกทางหนึ่งด้วยต่อไป