หอการค้าฯจี้ส่งเสริมลงทุน “ภาคกลาง” พัฒนา SMEs กระตุ้น ศก.ฐานราก

หมายเหตุ : ในการจัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ได้มีการระดมความคิดเห็นของนักธุรกิจจากทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันวางแผนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งกลุ่มหอการค้าจังหวัดแต่ละภาคมีการนำเสนอโจทย์สำคัญเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำเสนอลงทีละภาคดังนี้

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง ได้เปิดเผยถึงนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคกลางว่า มี 7 ประการ ได้แก่ 1.เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ เน้นไปที่การบูรณาการระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่ต่างคนต่างคิด บูรณาการร่วมเป็นหนึ่งเดียว 2.มาตรการใหม่ที่เพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับประชาชนฐานราก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมใช้บัตรคนจน เป็นประเทศเดียวในโลกนี้ที่คนจนเพิ่มขึ้นทุกปี ตรงนี้ให้มีรายได้มาจากความเป็นจริง และยั่งยืน 3.ส่งเสริมการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่มีอำนาจการซื้อมาก มีคุณภาพ ไม่ใช่เอาปริมาณอย่างเดียว โดยเฉพาะ USA 4.ปรับปรุงกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการค้าการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs 5.การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะต้องมีการนำหุ่นยนต์มาทดแทน 6.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ในภาคกลาง ไม่ใช่ไปกระจุกที่ EEC อย่างเดียว และ 7.จัดทำแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแต่ละจังหวัด

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลลดปัญหาความเหลื่อมล้ำมี 3 ประการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน 2.ปรับกระบวนทัศน์และวิธีการคิดแก้ไขปัญหาความยากจน ให้ดูต้นเหตุ ไม่ใช่กำหนดนโยบายจากข้างบนลงไป และ 3.พัฒนาคุณภาพของคนโดยการปฏิรูประบบการศึกษา

นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลผลักดันและติดตามการแก้ไขปัญหาจราจรถนนพระรามที่ 2 เพราะตอนนี้ติดจาก กทม.-สมุทรสาครใช้เวลา 2 ชม. ไปถึงหัวหิน 5 ชม.ยังเคยมี รวมถึงเรื่องใหม่ที่จะผลักดันเชื่อมโยงภูมิภาคเหนือ-กลาง-อีสาน (โดยเชื่อมถนนสายรองเข้าสู่ถนนสายหลัก เช่น ถนนสายเอเชีย 32 และสายพหลโยธิน 1) และการสร้างทีมพัฒนา SMEs ให้สอดคล้องกับหน่วยงานของรัฐ พยายามบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

สำหรับแนวทางการดำเนินการและการแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน แบ่งเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ 1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน และแก้ไขปัญหาจราจร ต้องเร่งรัดโครงสร้างคมนาคมทั้งทางบกและทางราง 2) สร้างและพัฒนา SMEs ในทุกระดับให้ครบวงจร โดยการเปิดศูนย์บ่มเพาะ SMEs, ศูนย์ให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs (TSC) และจัดทำ platform สำหรับ SMEs/Application ในการส่งเสริมการขายสินค้า 3) การเปิดด่านถาวร และการเปิดด่านธรรมชาติ และเพิ่มการลงทุนตามแนวชายแดน โดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรองรับให้เป็น one stop service และประสานงานระหว่างพื้นที่กับประเทศเพื่อนบ้าน และ 4) แก้ไขปัญหาแรงงาน โดยจัดอบรม training และ reskill ให้กับแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน เช่น การนำหุ่นยนต์มาใช้

ด้านเกษตรและอาหาร แบ่งเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ 1) นวัตกรรม ส่งเสริมการแปรรูปการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การแปรรูปโกโก้ 2) การตลาด จัดตั้งกลุ่มและรวบรวมผลผลิต เพื่อการส่งออก 3) มาตรฐาน ส่งเสริมการผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 4) นโยบายภาครัฐ โดยทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อป้องกันราคาสินค้าตกต่ำ และความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ภาครัฐควรออกกฎหมายควบคุมการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง

ด้านการท่องเที่ยวและบริการ แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ 1) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อย่างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ และการท่องเที่ยวชุมชน การรักษาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเดิม รวมถึงการสร้างเส้นทางและระบบการขนส่งให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว 2) ประชาสัมพันธ์และการตลาด โดยสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งใหม่ โปรโมตอาหารในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงทำโรดโชว์แหล่งท่องเที่ยว และมาสคอตของจังหวัด เป็นต้น 3) คุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะการให้บริการและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และมีการวางมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม