ส.อ.ท.ขอนแก่นทุ่ม 450 ล. ผลิตรถตัดอ้อย

พร้อมใช้ - ขอนแก่นนำร่องใช้รถเกี่ยวอ้อยเพื่อช่วยแก้ปัญหาฝุ่น ควัน PM 2.5 ที่เกิดจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เกษตรกรคาดว่าจะสามารถให้บริการเกษตรกรได้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2562/2563 โดยมีพื้นที่เป้าหมายแรกที่อำเภอน้ำพอง

ประธานสภาอุตฯขอนแก่น ทุ่ม 450 ล้านบาท ศึกษาออกแบบชุด “รถตัดอ้อย” เฉพาะพื้นที่ให้ชาวไร่เช่าในราคาถูก 100 บาท/ตันอ้อย หวังลดปัญหาการเผาอ้อย ก่อมลพิษ PM 2.5 ตั้งเป้านำร่องให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.น้ำพอง 150 กลุ่มทดลองก่อนฤดูหีบอ้อยปี 2562/2563 นี้ พร้อมผนึก 2 มหาวิทยาลัยดังใช้ “โดรน” ช่วยบินวิจัยสีของใบพืช เชื่อมโปรแกรมวิเคราะห์การให้ปุ๋ย-ยา

นายทรงศักดิ์ ทองไทย ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส พี คอนโทรล ตัวแทนจำหน่ายและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อะไหล่แอร์รถยนต์ ระบบไฟฟ้า และบริการเช่ารถเครน ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกำลังทำการศึกษาและออกแบบรถตัดอ้อยแบบพิเศษ โดยใช้เงินลงทุนส่วนตัวมูลค่า 450 ล้านบาท ในนามสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเช่าไปใช้ในราคาถูกประมาณ 100 บาท/ตันอ้อย เพื่อช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว และเพื่อช่วยลดภาระหนี้จากการซื้อรถตัดอ้อยที่มีราคาแพง แต่ใช้งานเพียง 3-4 เดือน/ปี ทำให้เป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น ซึ่งรถเก็บเกี่ยวอ้อยจะช่วยลดต้นทุนเกษตรกร ลดเวลาหีบ และเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ ตามแผนงานที่วางไว้จะมีการจัดทำรถตัดอ้อยแบบพิเศษทั้งหมด 150 ชุด ราคาชุดละ 3 ล้านบาท ภายใน 1 ชุด ประกอบด้วย รถสางใบ รถตัดอ้อย และรถคีบอ้อย คาดว่าจะสามารถให้บริการเกษตรกรได้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2562/2563 โดยจะทดลองในพื้นที่อำเภอน้ำพองก่อน มีเกษตรกร เป้าหมาย 150 กลุ่ม รวมปริมาณอ้อยกลุ่มละประมาณ 5,000 ตันอ้อย

“การจะห้ามไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อยจำเป็นต้องหาวิธีการทดแทนที่คุ้มทุน ยิ่งไปกว่านั้นการเก็บเกี่ยวด้วยรถตัดอ้อยแบบที่มีในปัจจุบันมีค่าเช่าที่ค่อนข้างสูง และไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่การปลูกอ้อยของจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีการปลูกที่ไม่ได้แบ่งพื้นที่แบบมาตรฐานเหมือนในต่างประเทศ เพราะเป็นการปลูกแบบอัดแน่นเพื่อให้ได้ปริมาณอ้อย ซึ่งทำให้รถตัดอ้อยแบบปกติเข้าถึงได้ยาก ทั้งนี้ หลังผลการศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จทางสภาอุตฯจะนัดประชุมเครือข่ายเกษตรกร เพื่อหารือเรื่องราคาค่าเช่ากันอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ เราจะนำร่องให้เห็นว่าอุตสาหกรรมและการเกษตรต้องคงไว้ แต่ต้องประยุกต์เครื่องมือต่าง ๆ ในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน” นายทรงศักดิ์กล่าวและว่า

นอกจากนี้ ทางสภาอุตฯขอนแก่นได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ทำโครงการวิจัยเรื่องสีของใบพืช โดยใช้โดรนบินตรวจสอบพืชทั้งแปลง และนำมาวิเคราะห์ผ่านโปรแกรมที่ได้รับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำในเรื่องใบข้าว โดยจะมีการออกแบบโปรแกรมให้สามารถวิเคราะห์สีของใบพืชแต่ละชนิด เช่น ใบมันสำปะหลัง และใบอ้อยในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวจะวิเคราะห์ได้ว่าหากใบพืชมีสีลักษณะอย่างนี้กำลังขาดธาตุอะไร จะได้บำรุงให้เหมาะสมกับสภาพใบที่เกิดขึ้น ทำให้ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกสบายในภาคเกษตรกรรม เพราะ 60% ของต้นทุนภาคเกษตรในจังหวัดขอนแก่น คือ ค่าปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ดังนั้น การที่สามารถวิเคราะห์สารอาหารที่ตรงกับสภาพพืชที่กำลังปลูกได้จะทำให้ต้นทุนเกษตรกรลดลง

“เราจะนำกล้องที่มีความละเอียดสูงทดลองบิน จากนั้นเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทั้งสารอาหารของพืช ความชื้นสัมพัทธ์ ค่าสารเคมีในดิน กับสีของใบพืช เพื่อให้การวัดสีสะท้อนถึงสภาพสารอาหารในดินได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด” นายทรงศักดิ์กล่าว

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานการผลิตอ้อยของประเทศไทย ประจำปีการผลิต 2560/2561 ในส่วนของจังหวัดขอนแก่นถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อย และปริมาณอ้อยสูงเป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองจากอุดรธานีที่มีพื้นที่ปลูกอ้อย 711,900 ไร่ ปริมาณอ้อย 8,343,466 ตัน และนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกอ้อย 672,952 ไร่ ปริมาณอ้อย 7,893,730 ตัน โดยขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกอ้อย 650,196 ไร่ ปริมาณอ้อย 7,587,787 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าอ้อยขั้นต้นเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 680 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินประมาณ 6,000 กว่าล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต

อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาทาง สอน.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศให้กำชับชาวไร่อ้อยงดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล หากมีการเผาอ้อยในกรณีใดก็ตามถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ