กู้ “กองทุนSMEs ประชารัฐ” สุดหินติดปมตั้งบริษัท

ผู้ประกอบการรายย่อยต่างจังหวัดระทม “กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” วงเงิน 2 หมื่นล้าน อนุมัติกู้ได้แค่จิ๊บจ๊อย ขั้นตอนพิจารณาล่าช้า พบอุปสรรคเพียบ ติดเกณฑ์ปล่อยกู้ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล เจอปัญหาเครดิตบูโร เอ็นพีแอลเพียบ ขณะที่ระยะเวลาสิ้นสุดยื่นคำขอกู้ภายใน 30 ก.ย.นี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ให้จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ” วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้ระยะยาว 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก ระยะชำระคืน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-30 กันยายน 2560 นี้ แม้จะมีผู้ประกอบการสนใจแห่ขอกู้เป็นจำนวนมาก แต่การอนุมัติปล่อยกู้ยังทำได้น้อยมาก

ทั้งนี้ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาถึงวันที่ 28 ส.ค. 2560 ในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ 1. จังหวัดตราด ได้รับวงเงิน 186 ล้านบาท มีผู้ยื่นคำขอสะสม 19 ราย วงเงิน 85 ล้านบาท อนุมัติ 2 ราย 6 ล้านบาท รอการอนุมัติรอบ 2 และ 3 จำนวน 7 ราย วงเงิน 27, 350,000 บาท 2. จังหวัดจันทบุรี วงเงินกู้ 204 ล้านบาท ผู้ยื่นคำขอสะสม 12 ราย วงเงิน 124,500,000 บาท อนุมัติ 3 ราย วงเงิน 15,650,000 บาท รอการอนุมัติรอบ 2 จำนวน 8 ราย 53 ล้านบาท และรอบ 3 จำนวน 3 ราย 19 ล้านบาท 3. ชลบุรี วงเงินกู้ 225 ล้านบาท ผู้ยื่นคำขอสะสม 57 ราย วงเงิน 327,748,096 บาท อนุมัติสะสมทุกรอบ 6 ราย 25,300,000 ล้านบาท และ 4. ระยอง วงเงินกู้ 225 ล้านบาท มีผู้ยื่นคำขอสะสม 32 ราย วงเงิน 139,361,000 บาท อนุมัติสะสม 6 ราย 19,800,000 บาท ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แจ้งให้แต่ละจังหวัดเร่งรัดยื่นกู้ภายในวันที่ 15 ก.ย. 2560 นี้

นายอดิศักดิ์ อุรเคนทร์ อุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า ผู้ยื่นกู้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม และการแปรรูปผลผลิตทางเกษตร แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถยื่นขอกู้ได้เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกองทุนนี้ เช่น ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ติดหนี้เอ็นพีแอล (NPL)

ต้องการกู้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือไม่ใช่ธุรกิจภายใต้ S-Curves รวมทั้งเอกสารต่าง ๆ ไม่พร้อม ทำให้ไม่สามารถยื่นคำขอได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

“เหตุที่ล่าช้าคือการยื่นคำขอผ่านธนาคารเอสเอ็มอี จ.ตราด แล้วต้องใช้เวลาตรวจสอบเอกสาร ลงดูพื้นที่จริง จากนั้นต้องส่งให้คณะกรรมการวิเคราะห์การเงินระดับภาคที่ จ.ระยอง ใช้เวลานานร่วม 2 เดือนจึงจะรู้ผล และบางรายต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมจึงยังไม่สามารถทำสัญญากู้เงินได้”

ด้านนายเดชนริศ โยธาภิรมย์ ผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สาขาตราด (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มายื่นกู้น้อยเพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และพบปัญหา NPL ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดภายใน 12 เดือน การติดเครดิตบูโร เอกสารต่าง ๆ ที่นำส่งไม่ครบ หรือทวงถามแล้วส่งล่าช้า ที่ผ่านมาคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ระดับภาค ที่ จ.ระยอง พิจารณาผ่านไป 4 ราย แต่มี 2 รายยังรอขั้นตอนให้ผ่านการพิจารณาคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจังหวัดตราด ซึ่งการพิจารณาผู้ยื่นกู้แต่ละรายจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน

นายปิติบุตร กิตติธรรมวงศ์ ผู้จัดการ บริษัท อ่าวทิพย์ จำกัด ผู้ยื่นกู้รายหนึ่ง กล่าวว่า ทำธุรกิจโรงแรมที่เกาะช้าง จ.ตราด มา 5 ปีแล้ว และเตรียมจะขยายห้องพักเพิ่มอีก 12 ห้อง โดยได้ยื่นคำขอกู้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีวงเงิน 10 ล้านบาท แต่ตอนนี้ยังรอเอกสารคำรับรองจากหน่วยราชการที่ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

ขณะที่นางสาวศรชนก ทองมั่นคง อุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ธุรกิจที่ยื่นกู้จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ ธุรกิจอัญมณี การแปรรูปผลไม้ และการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ประกอบการที่มายื่นกู้ยังไม่ได้รับอนุมัติเงินนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์การเงินของเอสเอ็มอีแบงก์ระดับภาคที่ระยอง

นายสุรพล สุทธจินดา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่า ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม จึงไม่มีปัญหาการจดทะเบียนนิติบุคคล แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นกิจการขนาดเล็ก โดยมีผู้ยื่นคำขอสะสม 32 ราย วงเงิน 139,361,000 บาท เพิ่งอนุมัติไป 6 ราย 19,800,000 บาท เหลือเงินอีกเกือบ 120 ล้านบาทที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ

ด้านแหล่งข่าวในคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ชลบุรีมีผู้ยื่นกู้กองทุนเอสเอ็มอีมากถึง 327,748,096 บาท เกินวงเงินที่ได้รับ 225 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเมืองอุตสาหกรรม และส่วนใหญ่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยมีผู้ยื่นคำขอสะสม 57 ราย อนุมัติ 6 ราย 25,300,000 บาท