“ผู้ว่าฯเชียงราย” งัดกฎเหล็กสั่ง ห้ามจัดซื้อจัดจ้าง”วิธีพิเศษ”

พ่อเมืองเชียงรายสั่งหัวหน้าส่วนราชการ ห้ามใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการด้วยวิธีพิเศษ หลังพบปัญหาโครงการสร้างตุงใหญ่กลางเมือง หวั่นข้าราชการถูกตรวจสอบ-ขึ้นศาล ยกเว้นกรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงและภัยพิบัติ

นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ได้แจ้งต่อหัวหน้าส่วนราชการว่า ให้ทุกหน่วยงานยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ด้วยวิธีพิเศษ และให้แต่ละหน่วยงานหันมาใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีปกติก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากต้องการเลี่ยงความเสี่ยงข้าราชการเข้าไปพัวพันกับการกระทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย หรือการทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ หากดำเนินการไปแล้วจนไม่สามารถทำต่อไปได้ จึงค่อยหันมาใช้วิธีการอื่น ๆ ใน 6 วิธี คือ การตกลงราคา การสอบราคา การประกวดราคา การประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ วิธีกรณีพิเศษ และวิธีพิเศษ

สำหรับการให้ยกเลิกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีปัญหาโครงการก่อสร้างตุงเอกลัษณ์เชียงรายเมืองศิลปิน เพื่อน้อมรำลึกในรัชกาลที่ 9 และเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ณ สวนตุงและโคมนครเชียงราย ถนนธนาลัย อ.เมือง ซึ่งแต่เดิมทางเทศบาลนครเชียงรายได้เขียนแผนงาน/ออกแบบ และประมาณการจะใช้งบฯ 60 ล้านบาท โดยมีรูปแบบเป็นตุงโลหะขนาดใหญ่ สร้างด้วยบรอนซ์สูง 15 เมตร ต่อมามีการปรับลดงบฯลงเหลือ 50 ล้านบาท โดยตัดตุงปีกทางด้านซ้ายและขวา รวมทั้งฐานออกไป

“งบประมาณที่ขอมาก่อสร้างโครงการนี้เป็นของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ทำให้ทางอำเภอเมืองเชียงรายต้องเข้าไปดำเนินการเอง และได้ตั้งกรรมการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งผมเห็นว่าเข้าข่ายผิดขั้นตอนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ปี 2535 ข้อ 22 วรรค 2 ที่ระบุว่า การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้ แต่โครงการนี้จะเหลือเพียงตุงใหญ่ตรงกลางอันเดียว แต่ชิ้นส่วนอื่น ๆ

ถูกปรับออกหมด จึงถือเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้าง จึงสั่งให้ไปทบทวนโครงการแล้ว เพราะไม่อยากให้ข้าราชการต้องถูกตรวจสอบ หรือถูกชี้มูลความผิดขึ้นโรงขึ้นศาล โดยเฉพาะเมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้ว ดังนั้น จึงกำชับให้ส่วนราชการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบปกติไปก่อน”

อย่างไรก็ตาม กรณีการห้ามใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษดังกล่าวก็อาจจะมีข้อยกเว้นในบางเรื่อง เช่น ด้านสาธารณสุข กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงที่ต้องยับยั้งการระบาดอย่างเร่งด่วน หรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงจนใช้งบประมาณปกติไม่ได้ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งผลการตรวจสอบจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป เช่น กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)