เปิดนโยบายหอการค้า จ.เชียงใหม่สมัยที่ 22 ปี เร่งผลักดันเศรษฐกิจนวัตกรรม-มุ่งตลาด ตปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่าวานนี้ (27 มิถุนายน 2562) หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดงานสถาปนาคณะกรรมการสมัยที่ 22 ประจำปี 2562-2563 “นายวโรดม ปิฎกานนท์” นั่งประธานหอการค้าฯ พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ “หอการค้าฯ เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิตอล เชื่อมโยงสมาชิกและองค์กรพันธมิตร มุ่งตลาดการค้าต่างประเทศ” ผลักดันโครงการ Flagships เร่งรัดสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2, การเป็นนครแห่งการดูแลสุขภาพ Wellness City –Medicopolis โครงการ Smart City – MICE City ควบคู่กับการเมืองการศึกษา (University Town-Education Hub) ด้านสิ่งแวดล้อมดันกฎบัตรเชียงใหม่ (Chiang Mai Charter) แก้ปัญหาหมอกควันยั่งยืนพร้อมชูพื้นที่เชียงใหม่เป็นมรดกโลกในโซนที่เหมาะสม (World Heritage City) มุ่งขยายเศรษฐกิจโต 3 แสนล้าน

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดงานสถาปนาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สมัยที่ 22 ประจำปี 2562-2563 เพื่อแนะนำคณะกรรมการพร้อมแถลงแผนงาน-นโยบาย ในช่วงการบริหารงาน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “หอการค้าฯ เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิตอล เชื่อมโยงสมาชิกและองค์กรพันธมิตร มุ่งตลาดการค้าต่างประเทศ”

มีพันธกิจ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมองค์กรหอการค้าฯ ให้เข้มแข็ง โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการสู่เป้าหมาย 2.สานประโยชน์สู่มวลหมู่สมาชิกให้มีความชัดเจน ใกล้ชิด ตอบสนองความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก 3.ส่งเสริมและฟื้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชียงใหม่ เชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศ (International Trade) ผลักดันโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศ และระหว่างประเทศ และ 4.สนับสนุนร่วมมือองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ภาครัฐ ภาคสถาบัน การศึกษา ภาคเอกชน-ประชาสังคม และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่อง

“ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีผลกระทบสูงต่อทุกภาคส่วนดังนั้น ภาคการค้าจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และรอบคอบ โดยการบริหารงานของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่สมัยนี้ จะเน้นด้านการนำนวัตกรรมดิจิตอลมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้เติบโตขึ้น ผ่านยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้มูลค่ามวลรวมด้านเศรษฐกิจเติบโตถึง 3 แสนล้านบาทภายในปี 2565” นายวโรดมกล่าว

โดยคณะกรรมการฯ ได้เห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดนโยบายที่สำคัญดังนี้ คือ นโยบายที่ 1 มุ่งมั่นส่งเสริมองค์กรหอการค้าฯ ให้เข้มแข็ง โดยการพัฒนาศักยภาพขององค์กรในภาพรวมในระดับคณะกรรมการ และสำนักงานเลขาธิการหอการค้า โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิตอล มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการสู่เป้าหมาย

นโยบายที่ 2 สานประโยชน์สู่มวลหมู่สมาชิกให้มีความชัดเจน ใกล้ชิด ตอบสนองความต้องการของสมาชิกเป็นหลัก ได้แก่ การสนับสนุนให้สมาชิกรวมตัวเป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) ในแต่ละวิสาหกิจของภาคธุรกิจในจังหวัด เพิ่มจำนวนสมาชิกหอการค้าฯ ให้มีความหลากกลายประเภทธุรกิจ และครอบคลุมทุกพื้นที่ ของจังหวัดเชียงใหม่ สร้างศูนย์ข้อมูลเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการสร้างสมองค์ความรู้ และแบ่งปันสู่ทุกภาคส่วนของธุรกิจ อย่างเป็นระบบ (Knowledge Sharing) ตลอดจนการส่งเสริมให้ความรู้ให้เกิดช่องทางการตลาด และการเงินใหม่ (Fintech) ให้กับสมาชิก ภายใต้แนวโน้มใหม่ทางเทคโนโลยีด้านการเงิน ผ่านระบบออนไลน์ –ดิจิตอล (E-Commerce) หรือ Block Chain เป็นต้น

นโยบายที่ 3 ส่งเสริมและฟื้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชียงใหม่ เชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศ (International Trade) ที่สำคัญคือการฟื้นความสัมพันธ์กับเมืองคู่มิตรที่สำคัญของหอการค้าฯ และจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นการฟื้นฟู และเชื่อมโยงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นรูปธรรมให้ก้าวสู่การค้าสากล

ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จะร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ในการฟื้นการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีสัมพันธภาพที่ดีกับสถานกงสุลใหญ่ และกงสุลกิตติมศักดิ์ในพื้นที่เป็นอย่างดี สามารถต่อยอดในการเปิดตลาด ทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยวได้

เช่น ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ เมืองยูโอชุ เมืองฮอกไกโด เมืองไซตามะ เป็นต้น ประเทศจีน ได้แก่ ชิงเต่า เฉินตู เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เป็นต้น สหรัฐอเมริกา เมืองซานราฟาเอล มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศเกาหลี ,มลรัฐโตรอนโต แคนาดา จังหวัดย็อกยาการ์ต้า อินโดนีเซีย เชียงตุงของพม่า และ เมืองบูร์ซา สาธารณรัฐตุรกี เป็นต้น

ไม่รวมกับประเทศที่หอการค้าฯ ได้ไปลงนามได้แก่ เมืองลียง (ฝรั่งเศส), จิตตะกอง (บังคลาเทศ) เขตปกครองสิบสองปันนา CCPIT ของมณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกวางสี ชิงเต่า มณฑลซานตง (สาธารณรัฐประชาชนจีน) มณฑลซีอาน มณฑลหนิงเซียะ สป.จีน สหภาพเมียนมา ได้แก่ เชียงตุง ตองยี มัณฑะเลย์ และท่าขี้เหล็ก ประเทศญี่ปุ่นได้แก่ โอซาก้า หอการค้าโอบิฮิโร่ ล่าสุดคือเมืองผานโจว์ มณฑลกุ้ยโจว เป็นต้น

นอกจากนี้จะผลักดันโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตที่สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การเป็นนครแห่งการดูแลสุขภาพ (Wellness City) และ Long Stay-Retirement Tourism ได้แก่ โครงการเวชนคร (Medicopolis) เป็นต้น โครงการ Smart City โครงการเชียงใหม่แฟร์เทรด โครงการ MICE City การผลักดันพื้นที่เชียงใหม่เป็นมรดกโลกในโซนที่เหมาะสม (World Heritage City)

การเป็นเมืองการศึกษา (University Town-Education Hub) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงการทำบทบาทเป็นองค์กรชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ในระยะยาว ผ่านการใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจอนาคต โดยริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ระยะ 20 ปี Chiang Mai Economic Future Plan 2040

นโยบายที่ 4 สนับสนุนร่วมมือองค์กรพันธมิตร ได้แก่ ภาครัฐ ภาคสถาบัน การศึกษา ภาคเอกชน-ประชาสังคม และสื่อมวลชน อย่างต่อเนื่องโดย การเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนการทำงานร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทต่อประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การติดตามแก้ไขปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่ที่เป็นวิกฤติของเมืองผ่านกลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมสนับสนุนผลักดัน กฎบัตรเชียงใหม่ (Chiang Mai Charter) ที่จะยกระดับจังหวัดเชียงใหม่เป็นการท่องเที่ยวนิเวศโลก