ตรังเตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรครากขาวยางพาราช่วงหน้าฝน หวั่นระบาดรุนแรง

เกษตรจังหวัดตรัง เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรครากขาวยางพาราช่วงหน้าฝน หวั่นสร้างความเสียหายให้แก่สวนยางพาราในวงกว้าง หากพบระบาดเสียหายรุนแรง ขอให้เกษตรกรแจ้งประสานงานไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอทุกพื้นที่ใกล้บ้าน

นายมานพ แก้วอัมพร เกษตรจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนของพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สภาพอากาศในจังหวัดตรังเหมาะสมที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุโรครากขาวในยางพารา เนื่องจากอากาศมีความชื้นจากที่มีฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากต้นยางพาราเกิดโรคนี้แล้ว จะทำให้ยางพารายืนต้นตาย และเชื้อจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว จนสร้างความเสียหายให้แก่สวนยางพาราในวงกว้าง

โดยพบยางพาราเป็นโรคได้ทุกระยะการเจริญเติบโต เริ่มแรกจะไม่เห็นลักษณะผิดปกติของส่วนที่อยู่เหนือดิน แต่มีน้ำยางไหลเยอะผิดปกติ เมื่อรากถูกทำลายอย่างรุนแรง จะยืนต้นตายทีละต้นจนขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดตรังจึงขอให้เกษตรกรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ขอบใบห่อลง ใบค่อนข้างหนาเป็นคลื่น พุ่มใบเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลืองในบางกิ่งหรือทั้งทรงพุ่ม กิ่งแขนงแห้งตาย ในที่สุดจะยืนต้นตาย เปลือกแตก มีแผลสีน้ำตาลบริเวณโคนต้น เยื่อสีขาวเรียบลายแบน เมื่ออายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด ดอกเห็ดเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียว หรือซ้อนกันเป็นชั้น สีเหลืองส้มเ ข้มอ่อนเรียงสลับกัน ขอบดอกสีขาว

“สำหรับการแพร่กระจาย เกิดจากการสัมผัสกันของรากที่เป็นโรคกับรากปกติ ทำให้เชื้อเจริญลุกลาม หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลมติดไปกับแมลง หรือลอยไปตามน้ำ เมื่อมีความชื้นเชื้อราจะเจริญเติบโตไปยังโคนต้นและรากกลายเป็นแหล่งโรคใหม่ ทั้งนี้ ในการควบคุมและป้องกันโรครากขาวยางพารา ขอให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่ปลูกโดยทำลายตอไม้รากเก่าออกให้มากที่สุดหรือใช้สารฆ่าตอ เพื่อให้ตอผุพัง ในแหล่งที่มีโรคระบาด” นายมานพ กล่าว


นายมานพ กล่าวต่อไปว่า หลังการเตรียมดิน ควรเตรียมแปลงปลูกลดปริมาณเชื้อโรค ด้วยการใช้กำมะถันผงผสมกับดินหลุมปลูก 150-200 กรัมต่อหลุม ก่อนปลูกอย่างน้อย 1-2 เดือน หรือใช้ปุ๋ยยูเรียผสมปูนขาว 1 ต่อ 10 ผสมแล้วใส่ลงในหลุมต่อเก่าก่อนปลูกอย่างน้อย 1 เดือน หรือจะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ผสมรำละเอียด ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 1 ต่อ 4 ต่อ 100 คลุกเคล้าให้เข้ากันรองก้นหลุม โดยผสมรวมกับดินปลูกรอบโคนต้น หรือโรยทรงพุ่ม 5-10 กิโลกรัมต่อต้น หรือใช้ไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัมต่อน้ำสะอาด 100-200 ลิตรพ่นให้ทั่วแปลง

ส่วนการใช้สารเคมี ใช้รักษาต้นที่เป็นโรคเล็กน้อยและต้นข้างเคียงเพื่อป้องกันโรค โดยสารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ ไตรดีมอร์ฟ ไซโพรโคนาโซล โพรพิโคนาโซล และเฮกซาโคนาโซล อย่างไรก็ตามหากพบการระบาดเสียหายรุนแรง ขอให้เกษตรกรแจ้งประสานงานไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอทุกพื้นที่ใกล้บ้านเพื่อขอคำแนะนำ ในการแก้ไขปัญหาต่อไปหรือติดต่อโดยตรงได้ที่ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง