อภัยภูเบศรโต 10% ชู “กัญชา” ดันศูนย์ศึกษาครบวงจร

ปัจจุบันประชาชนหันมายอมรับและใช้ “สมุนไพร” ในการรักษาโรคมากขึ้น “มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ” มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกมาหลากหลาย รวมถึงการผลักดันเรื่องการนำ “กัญชา” มารักษาโรค

เภสัชกรหญิงวัจนา ตั้งความเพียร กรรมการบริหารมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสมุนไพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ยังคงเติบโตประมาณปีละ 10% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แต่ยังได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบายผ่านกลไกกระทรวงสาธารณสุข โดยสมุนไพรถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักของประเทศ และได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปยังการท่องเที่ยวในพื้นที่เชิงสมุนไพร และช่วงปลายปี 2561 ได้ทำศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ ต.บางเดชะ จ.ปราจีนบุรี ตลอดจนทำพิพิธภัณฑ์การทำยาสมุนไพร และการอบรมเกษตรกรในการปลูกสมุนไพร

วิจัยสมุนไพรแก้ซึมเศร้า-เมื่อย

นอกจากนี้ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ อยู่ระหว่างทำวิจัยสมุนไพรอีกหลายตัว โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่สังคมให้ความสนใจ ทั้งโรคซึมเศร้าและออฟฟิศซินโดรม เช่น “บัวบก” ออกฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนเลือด คนไข้ที่เคยรับประทานทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และอาการปวดศีรษะในช่วงเวลาที่เครียดลดน้อยลง หรืออาจใช้เสริมฤทธิ์กับยาแผนปัจจุบัน

Advertisement

รวมทั้งอยู่ระหว่างการวิจัย “กลีบบัวแดง” นำไปผสมกับพริกไทย มีฤทธิ์ในการช่วยบำรุงสมอง โดยพริกไทยช่วยในการไหลเวียนเลือด สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยในกลุ่มอาการนอนไม่หลับ มีความเครียดวิตกกังวล แต่ใช้ได้ในกลุ่มคนที่มีอาการไม่หนักมาก ทั้งนี้กลีบบัวแดงกำลังวิจัยในเรื่องการลดโปรตีนที่เป็นของเสียที่ตกค้างในสมอง คาดว่าจะสามารถต่อยอดไปถึงการบรรเทาอาการอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อม

วัจนา ตั้งความเพียร

สำหรับการแก้ปัญหาโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สเปรย์ MusCool ที่ได้รางวัล Prime Minister Herbal Awards ทำมาจากสมุนไพรที่ชื่อว่า กระดูกไก่ดำ เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีสรรพคุณในการแก้ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ โดยได้นำมาแปรรูปต่อยอดเป็นสเปรย์ฉีดที่มีฤทธิ์ในการแก้อักเสบ สามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายหรือกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมได้ โดยปัจจุบันทำการวิจัยในกลุ่มคนไข้ในโรงพยาบาลเทียบกับยาแผนปัจจุบัน พบว่าประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน

เพียงแต่ตัวยาแผนปัจจุบันต้องนำเข้าทั้งหมด ส่วนสเปรย์ตัวดังกล่าวเป็นวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศไทยและประชาชนทั่วไปทำเองได้

หนุนชุมชนสร้างรายได้

หลักการสำคัญในการทำสมุนไพร คือ เรื่องวัตถุดิบ ซึ่งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ จะสนับสนุนรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มมีความเข้มแข็ง ต้องปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยส่งเสริมความรู้ในการปลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีการกำหนดโควตาการซื้อล่วงหน้า 1 ปี และมีการตกลงราคารับซื้อล่วงหน้าชัดเจน หากเกษตรกรผลิตเกินโควตาที่กำหนด และอภัยภูเบศรฯ ยังต้องการเพิ่มจะรับซื้อทั้งหมด แต่หากส่วนเกินที่ผลิตได้มากขึ้นเกษตรกรสามารถนำไปขายเองได้ เพราะวัตถุดิบที่ส่งเสริมให้ผลิตจะมีราคามากกว่าราคาตลาด เพราะเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ

โดยพื้นที่เป้าหมายเดิมของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ คือ เกษตรกรในจังหวัดปราจีนบุรี แต่ปัจจุบันมีการขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากเมื่อมีผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น ใบบัวบก ติดต่อซื้อจากเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคาม มะขามป้อมจากเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ขมิ้นชันเป็นการทำงานร่วมกันกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในการส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกให้ปลูกขมิ้นแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

Advertisement

เร่งแผนใช้กัญชาทางการแพทย์

ส่วนประเด็นเรื่องกัญชานั้น มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ กำลังมีการดำเนินการให้เป็นต้นแบบในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจรตั้งแต่การปลูก ซึ่งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ มีโรงเรือนและขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปจะดำเนินการในด้านการสกัดเป็นผลิตภัณฑ์และจ่ายยาให้กับคนไข้ ซึ่งมีเครื่องมือพร้อมแล้ว โดยมีแนวทางขออนุญาตไปทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการใช้กัญชาของกลางมาสกัดเป็นยา ซึ่งล่าสุดได้รับการอนุมัติแล้วเนื่องจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ มีเทคโนโลยีที่สามารถสกัดยาจากกัญชา โดยสามารถแยกยาฆ่าแมลงที่มีอยู่ไม่ให้ออกมาปนเปื้อนได้ ซึ่งจะทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจ่ายยาในอนาคต

ปัจจุบันทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ มีการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร ทั้งแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนไทย ผ่านการอบรมให้สามารถจ่ายยาให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชา ในขณะที่การปลูกนั้นถึงแม้ว่าจะทำโรงเรือนเอง แต่ในอนาคตหากสามารถควบคุมคุณภาพการปลูกได้ จะทำการถ่ายทอดวิธีการและเทคโนโลยีการปลูกให้กลุ่มเกษตรกรในลักษณะเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ตั้งเป้าจะนำร่องให้กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดปราจีนบุรีปลูกก่อน

ทั้งนี้ กัญชาในต่างประเทศนั้นมีงานวิจัยรับรองมาก ที่ระบุสรรพคุณและการใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่ในประเทศไทยยังมีข้อถกเถียงจำนวนหนึ่งในเรื่องของสายพันธุ์และสารออกฤทธิ์ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพและติดตามการใช้ว่าเป็นไปตามทฤษฎีหรือไม่ในโรคและกลุ่มอาการต่าง ๆ

“ตัวน้ำมันกัญชาที่พูดถึงในข่าวทั่วไปนั้น ไม่มีใครทราบรายละเอียดว่าแต่ละสูตรมีอัตราส่วน CBD หรือ THC เท่าไร หรือความเข้มข้นแค่ไหน เพราะไม่ได้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังการสกัดและพันธุ์ของกัญชา โดยประเด็นนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากจะส่งผลข้างเคียงในการใช้และฤทธิ์ทางการรักษา โดยสารในกัญชาแบ่งได้เป็น CBD ซึ่งไม่มีผลกับจิตประสาท ไม่ทำให้หลอนไม่เมา มีสรรพคุณให้หลับง่าย ผ่อนคลาย แต่จะไม่มีฤทธิ์ในการทำให้ผู้ใช้เจริญอาหาร แต่ถ้าเป็น THC จะช่วยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง เพราะมีสรรพคุณทำให้เจริญอาหาร แต่ถ้าใช้เยอะจะมีผลต่อจิตประสาท ส่งผลต่อการเมาและชัก”

Advertisement