กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำร่องจัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ที่เซ็นทรัลอุดรธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ยกระดับตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว ผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่นิยมในตลาด นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเพิ่มมูลค่าสินค้า เน้นการประยุกต์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย เจาะกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมเร่งสร้างกระแสให้เกิดความภาคภูมิใจในผ้าไหมไทย เดินสายจัดงานแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหม จากผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาทั่วทุกภูมิภาค ประเดิมจัดงานครั้งแรกระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ลานนาข่า 1-2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยได้เดินสายนำผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น ดีไซเนอร์ นักการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ และภาพลักษณ์ตราสินค้า ลงพื้นที่ร่วมให้คำปรึกษา แนะนำ ในการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อขยายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น มีการถ่ายทอดเทคนิคการบริหารจัดการ อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาผ้าไหมให้มีความทันสมัย ร่วมสมัย และดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ให้นำผ้าไหมไทยมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเพื่อพัฒนาเส้นทางสายไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ตามยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่น 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย

1.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุดรธานี, กาฬสินธุ์ และขอนแก่น 2.ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช และ 3.ภาคเหนือ ได้แก่ แพร่, ลำพูน และเชียงใหม่

การดำเนินโครงการดังกล่าว ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผ้าไหมท้องถิ่นทั้ง 3 ภูมิภาค ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตลอดจนเกิดการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการผ้าไหมไทย และสามารถเชื่อมโยงไปยังผู้ผลิต ผู้จัดหา นักออกแบบ ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานักท่องเที่ยว ผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหมไทย และประชาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นช่องทางในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่ได้รับการพัฒนา โดยนำเอานวัตกรรมมาใสดีไซน์ที่ทันสมัยเข้าไป เพื่อตอบโจทย์ตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น กรมฯ จึงได้จัดงานแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ภายใต้ชื่อ “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” ขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2562 ที่ลานนาข่า 1 – 2 ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี

โดยภายในงาน มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่ได้รับการพัฒนา และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหม หลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย เสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์ที่เหมาะกับผู้บริโภคทุกวัย, เครื่องประดับ และของใช้ของตกแต่งบ้าน และมีผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกรมฯ เข้าจัดแสดงงาน ผู้เข้าชมงานจะได้ชื่นชมกับความงดงามของผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม แต่ละจังหวัดแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีลวดลายที่สวยงาม มีโครงสร้างผ้าและลักษณะการออกแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวแตกต่างออกไป รวมถึงสามารถเป็นเจ้าของผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมภายในงานได้ ในราคาสมเหตุสมผล มีความคุ้มค่า คุ้มราคา และสามารถนำไปเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านผ้าไหม แก่ลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดจัดงาน “หัตถศิลป์ ถิ่นแพรไหม” อีก 3 ครั้ง ได้แก่ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2562 ณ ฮอลล์ 12 อิมแพคเมืองทองธานี, จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2562 ณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล และ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ระยอง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ได้ชื่นชมผลงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ของผู้ประกอบการท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 นี้

“จึงขอเชิญชวนแฟนพันธุ์แท้ผ้าไหมไทย และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานหัตถศิลป์ ถิ่นผ้าไหม ที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม นี้ นอกจากจะได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยสวยๆ จากผู้ประกอบการท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทย มีความเข้มแข็งเป็นการสืบสานอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชน ให้คงอยู่คู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงคุณค่า ผ่านเส้นไหมและลวดลายที่งดงาม สมกับคำที่ว่า ผ้าไหมไทย สะท้อนเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทย”

อย่างไรก็ตาม ความงดงามของผ้าไหมไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในกลุ่มคนรักผ้าไหม และประชาชนทั่วไป เช่น ผ้าจกเมืองลอง จังหวัดแพร่, ผ้ายกดอก จังหวัดลำพูน, ผ้าจกแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่, ผ้าซิ่นตีนแดง จังหวัดบุรีรัมย์, ผ้าแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์, ผ้าโฮล จังหวัดสุรินทร์, อัมปรก จังหวัดสุรินทร์, ผ้ากาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี. ผ้ามัดหมี่ลายแก้วมุกดา จังหวัดมุกดาหาร, ผ้าเกต จังหวัดร้อยเอ็ด, ผ้าพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ผ้ายกเมืองนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช, ผ้าจวนตานี จังหวัดปัตตานี เป็นต้น