“หอการค้าเชียงใหม่” จี้แบงก์ชาติกระตุ้นศก. หนุน FinTech Crowdfunding แก้หมอกควันถาวร

สัมมนา - ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ไปร่วมงานสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ "โลกเปลี่ยน หมู่เฮาปรับ รุกรับให้ทัน" ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่

หอการค้าเชียงใหม่ชงผู้ว่าการแบงก์ชาติเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ-ทบทวน LTV ส่งผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์-หนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นทำธุรกรรมค้าชายแดน-ส่งเสริม FinTech ในเชียงใหม่ พร้อมเสนอไอเดียใช้ FinTech Crowdfunding ระดมทุนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างถาวร

นายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ประชุมร่วมกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมกับหอการค้าในภาคเหนือ โดยได้นำเสนอประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญด้วยกัน 5 เรื่อง คือ ผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (loan to value ratio-LTV ratio) การใช้เงินสกุลท้องถิ่น (local currencies) ในการทำธุรกรรมที่เขตการค้าชายแดน การศึกษาแนวทางการค้ากับจีนด้วยระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (cross border e-Commerce) การส่งเสริม FinTech และแนวคิดการแก้ไขปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ

สำหรับประเด็นผลกระทบจากมาตรการ LTV หอการค้ามองว่ามาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลกระทบต่อการขายโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่ เนื่องจากทำให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินมากขึ้น และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง จึงเสนอแนะให้ลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการ เช่น ลดภาษีการโอนต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ได้เสนอให้มีการพิจารณาใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมที่เขตการค้าชายแดน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม อันเป็นข้อเสนอของการประชุมหอการค้าไทย 5 ภาค ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่การค้าชายแดน โดยเสนอให้ขยายการถือเงินบาทออกจากประเทศไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ในอัตราที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ขึ้นอยู่กับระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เกี่ยวกับการถือเงินบาท การผ่อนคลายการออกใบอนุญาตการเป็นตัวแทนการแลกเปลี่ยนเงินตรา (money changer : MC) รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินบาทจากต่างประเทศมาประเทศไทย เป็นต้น

นายวโรดมกล่าวต่อว่า ในส่วนประเด็นเรื่องการศึกษาแนวทางการค้ากับจีนในลักษณะ cross border e-Commerce ที่เกี่ยวข้องกับเชื่อมโยงทางการเงินกับจีน เป็นโครงการที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อผลักดันสินค้าไทยคุณภาพสูงสู่ตลาดจีน โดยใช้ด่านบ่อหานเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการกระจายสินค้าไทย ผ่านโครงข่ายระบบขนส่งทางถนน รวมถึงเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายรถไฟจีนที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าถึงยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งในปี ค.ศ. 2020 โครงข่ายรถไฟของจีนจะมาถึงบ่อหาน ระยะทาง 240 กิโลเมตรจากเชียงของ

“การค้ารูปแบบนี้สามารถอาศัยรูปแบบการตลาดดิจิทัล เป็นช่องทางการค้าและสร้างความรับรู้ไปสู่ตลาดจีนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดกลยุทธ์ Online to Offline หรือ O2O คือ การใช้อิทธิพลของสื่อออนไลน์ผลักดันให้เกิดยอดขายทางออฟไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (One Belt One Road) โดยตรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องการโอนเงิน และการไหลเวียนของเงินในระบบของ digital payment ที่ทางแบงก์ชาติดูแลอยู่”

อีกประเด็นสำคัญที่ได้นำเสนอต่อ ธปท. คือ การส่งเสริม FinTech ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 ช่วงปี 2562-2564 ซึ่งภาคการค้าการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่กำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของเชียงใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน FinTech ในลุ่มแม่น้ำโขง โดยระบบ FinTech จะเป็นส่วนสำคัญให้เกิดกลไกเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ทันสมัย ระบบการเงินมีความปลอดภัย อันจะทำให้เกิดการตื่นตัวส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ FinTech ในพื้นที่ได้เกิดการพบปะ และเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินของตนแก่ผู้ที่สนใจลงทุน หรือผู้ที่ต้องการนำนวัตกรรมไปใช้ สามารถเกิดผู้ประกอบการใหม่ (startup) ในอนาคต เป็นการส่งเสริมระบบนิเวศของฟินเทค (FinTech Ecosystem) ในระยะยาวให้เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะเพิ่มการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจที่เติบโตในยุคใหม่ได้

สำหรับประเด็นสุดท้ายได้เสนอความเป็นไปได้ในการดำเนินเรื่องธนาคารต้นไม้ภาคเหนือ ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคม (Northern Thailand Tree Bank Social Enterprise 2020-2039 และการระดมทุนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างถาวร (FinTech Crowdfunding for Long-term Wild Fire Protection) เพื่อลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นการนำระบบการเงินมาแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติหนุนเงินสกุลท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้จัดสัมมนาวิชาการ “โลกเปลี่ยน หมู่เฮาปรับ รุกรับให้ทัน” โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาว่า ตามที่หอการค้าภาคเหนือได้นำเสนอให้ ธปท.พิจารณาการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ในการทำธุรกรรมเขตการค้าชายแดน ซึ่ง ธปท.ได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ และจะเร่งส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในเขตการค้าชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ธปท.มีการส่งเสริมเรื่องนี้มาโดยตลอด ล่าสุดความเคลื่อนไหวทางการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือขณะนี้พบว่า การค้าระหว่างไทยกับประเทศเมียนมามีการใช้เงินบาทมากถึง 50% ขณะที่ สปป.ลาวมีการใช้เงินบาทค้าขายกับไทยมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ธปท.ได้เจรจากับธนาคารกลางของประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง โดยจากเดิมเงินบาทมีการค้าขายเฉพาะเขตมณฑลยูนนาน แต่ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการค้าไปทั่วประเทศจีนแล้ว

“ปัจจุบัน ธปท.ได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย ในการร่วมมือกันขับเคลื่อนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า และถือเป็นการเปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการทำธุรกิจในรูปของเงินบาทได้มากขึ้น ต้นทุนของผู้ประกอบการจะถูกลง ทั้งนี้ เป็นการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และคาดว่าการซื้อขายเงินสกุลท้องถิ่นจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”