“ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง” ภูมิปัญญา 130 ปีได้ตีทะเบียน GI

ผู้ว่าฯพัทลุงปลื้ม “ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง” ได้ขึ้นทะเบียนประกาศสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) แล้ว ด้านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุงเร่งผู้ผลิต-ผู้ประกอบการค้าขึ้นทะเบียนสมาชิกแจ้งความประสงค์ผลิต

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง ร่วมกับวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนส่งเสริมจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง” ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ขึ้นทะเบียน GI ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดพัทลุง นานกว่า 130 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2562

หลังจากที่ “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ได้รับคำประกาศรับรองให้เป็นสินค้า GI ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ซึ่งนับเป็นข้าวพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จนทำให้จังหวัดพัทลุงสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก

ขณะนี้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุงได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า โดยผู้ขึ้นทะเบียนดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้ GI ของปลาดุกร้าดังกล่าว โดยวัตถุดิบที่นำมาทำปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุงที่จะนำมาแปรรูปเป็นสินค้า ต้องเป็นปลาดุกอุยตามธรรมชาติในแหล่งพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ที่นำมาผ่านกระบวนการหมักด้วยเกลือ และน้ำตาลทรายแล้วตากแห้ง ทำให้ได้ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุงที่ยังคงรูปร่างของปลาดุก ผิวสัมผัสแห้ง หนังมีสีเทาดำ เมื่อผ่านการปรุงสุกจะมีรสเค็มปนหวาน ที่ผลิตในเขตพื้นที่ จ.พัทลุง

รายงานข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI มี 4 รายการ ได้แก่ 1.จำปาดะสตูล มีเปลือกบาง เนื้อมีสีเหลืองอมส้ม (สีจำปา) ปลูกใน อ.เมือง อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.ท่าแพ อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง จ.สตูล 2.มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ปลูกใน อ.เมืองสระแก้ว อ.วัฒนานคร อ.อรัญประเทศ อ.เขาฉกรรจ์ อ.วังน้ำเย็น และ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว 3.ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง และ 4.ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ซึ่งเป็นลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย ปลูกใน อ.แม่ใจ จ.พะเยา