ตราดรุกเชื่อมจันท์-พัทยา-เลยสู่ลาว พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวชุมชน

“องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” หรือองค์การมหาชน:อพท. ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ช่วยสนับสนุนพัฒนาส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 6 แห่ง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ อพท. 3 ได้นำคณะกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน จ.ตราด 4 ชุมชน คือ ชุมชนเกาะหมาก ชุมชนท่าระแนะ ชุมชนตำบลไม้รูด และชุมชนตำบลคลองใหญ่ รวม 40 คน จัดกิจกรรมเชื่อมโยงศึกษาดูงานในพื้นที่ อพท. 5 ที่ อ.เชียงคานและ อ.ด่านซ้าย จ.เลย

“สุธารักษ์ สุนทรวิภาต” รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 กล่าวว่า การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานในพื้นที่ จ.เลยครั้งนี้เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานและพัฒนาการอย่างยั่งยืนต่อ รวมทั้งให้ชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เพื่อนำมาปรับใช้รวมทั้งสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน

เชียงคาน “แม็กเนต” ท่องเที่ยว

อพท. 5 ได้พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนมาตั้งแต่ปี 2558 อ.เชียงคานถือเป็นแม็กเนตการท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นตั้งแต่การตกแต่งอาคารให้มีสถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับอัตลักษณ์ของเชียงคาน มีการคัดเลือกต้นแบบแหล่งท่องเที่ยว เช่น ประเพณีการใส่บาตรข้าวเหนียว ถนนคนเดินในย่านอาคารเรือนไม้โบราณที่สวยงามที่อนุรักษ์ไว้ วิถีชีวิตของชาวบ้านฝั่งโขงและพิธีผาสาดลอยเคราะห์ หมู่บ้านโอท็อปท่องเที่ยวบ้านท่าดีหมี และต่อที่ อ.ด่านซ้าย แหล่งเรียนรู้ ภูนาคำรีสอร์ท โรงแรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมดี ๆ ที่ปลูกจิตสำนึก ประหยัดพลังงานลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งผสมผสานกิจกรรมสนุก ๆ เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตคนด่านซ้าย เช่น การวาดหน้ากากผีตาโขน การทำต้นผึ้งบูชาพระธาตุศรีสองรัก และเมนูอาหารท้องถิ่นเมี่ยงโค้น (น้ำผักสะทอน)

ชูบ้านท่าดีหมีบูมท่องเที่ยว

บ้านท่าดีหมี หมู่บ้าน OTOP เพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวมาเพียงปีเศษ “เจษฎาภรณ์ สอนเสียง” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านท่าดีหมี ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เล่าว่า เริ่มจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านพัฒนาการท่องเที่ยวเมื่อปี 2559 แรงบันดาลใจจากการเห็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูพระใหญ่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านมีรายได้จากการบริการรถรับส่ง บริเวณนี้สวยงามมาก มองเห็นแม่น้ำ 2 สาย 2 สี คือแม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขง ปี 2559 มีโครงการก่อสร้างสกายวอล์ก สูงจากแม่น้ำโขง 80 เมตร จะเปิดบริการเดือนตุลาคม 2562 เป็นแลนด์มาร์กใหม่ คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวมากันจำนวนมากและอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง 5-6 กิโลเมตร บ้านท่าดีหมี มีจุดท่องเที่ยว 5 แห่ง เริ่มจากดูทอผ้าฝ้ายพื้นบ้าน ชิมชาดีหมีหญ้าหวานสมุนไพรลดความดัน สกรีนเสื้อยืดที่ระลึก บ้านโบราณอายุ 300 ปี ริมแม่น้ำเหือง ไฮไลต์คือผลิตภัณฑ์กาบหมาก ที่มีกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบจำหน่าย มีการนำพิธีลอยผาสาดสะเดาะเคราะห์นำมาผสมผสานกับการท่องเที่ยวได้ดี การนั่งเรือประมงพื้นบ้านชมวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง

“ภูนาคำ” ศูนย์เรียนรู้ รร.สีเขียว

“อดุลย์ วงศ์มาศา” ผู้จัดการทั่วไปภูนาคำรีสอร์ท โรงแรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เล่าว่า จ.เลยมีโรงแรมสีเขียวได้มาตรฐาน 9 แห่ง อยู่ใน อ.ด่านซ้าย 7 แห่ง มากที่สุดในภาคอีสาน ภูนาคำรีสอร์ทตั้งอยู่ในพื้นที่ 26 ไร่ มีห้องพัก 21 ห้อง และสวนเกษตร 25 ไร่ ได้รับรางวัลกรีนโฮเต็ลทั้งระดับประเทศและตัวแทนอาเซียน จากการพัฒนาตัวเองและพยายามสร้างจุดยืนโรงแรมสีเขียวให้เข้มแข็งสื่อออกไป เช่น ปั่นจักรยานมาพักลด 50% ข้าวหอมมะลิอินทรีย์และเมนูอาหารบางอย่างปลูกเอง เช่น กะหล่ำปลีญี่ปุ่นผัดน้ำปลาเป็นผักอินทรีย์ ขนมปังงาดำ แต่ละแผนกจะผลิตของใช้จากธรรมชาติ เช่น น้ำยาสระผม ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า การกำจัดขยะโดยการคัดแยกและนำไปทำก๊าซชีวภาพ รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้

“ธรรมนูญ ภาครูป” ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 อพท. 5 กล่าวว่า อพท. 5 ดูแลพื้นที่ จ.เลยทั้งหมด 9 อำเภอ ปี 2560-2561 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 3.5 ล้านคน รายได้ปี 2561 ประมาณ 4,600 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 จำนวน 4,100 ล้านบาท หรือ12.4% คาดว่าปี 2562 จะเพิ่มขึ้น 10% อพท.ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อการกระจายรายได้ สามารถลดค่าความเหลื่อมล้ำจากคนรวย 50% เหลือ 30% อีก 70% มีการกระจายรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10-20% นักท่องเที่ยวมาเลยมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนไทยที่แม็กเนตยังคงเป็น อ.เชียงคาน และกลุ่มเพื่อนบ้านลาว ตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น จะไม่เพิ่มวัน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต้องการใช้เวลา 2- 2 วันครึ่ง ตุลาคม 2562 สกายวอล์ก แลนด์มาร์กจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่จะเปิด จากธีม “ขึ้นภูดูหมอก” ของด่านซ้าย ปีหนึ่งขายได้ 3 เดือน ตามสภาพอากาศ วัฒนธรรมผีตาโขนขายได้อีก 2 วัน ต้องหาอะไรมาต่อยอดสร้างรายได้ทั้งปี เป้าหมายคือ “ด่านซ้าย เมืองสุขภาพ” เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาได้ตลอดปี

“เป้าหมายของ อพท. 5 คือเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ตลาดนักท่องเที่ยวลาวเป็นลำดับ 1 ใน 5 ของต่างประเทศเข้ามาเที่ยวไทย โดยเข้ามาช็อปปิ้ง ตรวจสุขภาพ และเที่ยวทะเล อพท. 5 ได้สำรวจเส้นทางเชื่อมโยง เลย พัทยา จันทบุรี อนาคตอาจจะไปถึงตราดหรือเกาะช้าง ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว สินค้า อาหารทะเล และปีนี้มีโครงการสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมลานช้าง 4 เมือง (อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย) 4 แขวง (แขวงเวียงจันทน์ ไชยะบุรี หลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์) ซึ่งจะเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวไปพัทยา จะเจรจาร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการพัทยากับลาวต้นเดือนกรกฎาคมนี้

“เกาะหมาก” Green Destination

“นิพนธ์ สุทธิธนกูล” ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก กล่าวว่า เป้าหมายของเกาะหมากคือ Green Destination มีโรงแรม 40-42 แห่ง มีนักท่องเที่ยว 160,000 คน/ปี นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 80-90% รายได้ 320 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ย 2,000 บาท/คน อัตราเข้าพัก 40% ยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนสูง 70% มีผู้สนใจทำโรงแรมสีเขียว 4 แห่ง ต้องรอให้เห็นผลระยะยาว จากประสบการณ์ตรง ถ้าโรงแรม ร้านอาหาร กิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นกรีนจะช่วยลดต้นทุนได้ 30% หรือมากกว่านั้น เท่ากับเรามีกำไรมีเงินงอก 167 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวไม่เพิ่มขึ้น เกาะไม่สกปรก

ต้องทำงานบูรณาการและสร้างเครือข่ายในชุมชนท่องเที่ยวด้วยกัน สิ่งสำคัญทายาทผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้เข้าใจทิศทางการตลาดและการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน จากนี้จะเริ่มทำอย่างจริงจังดึงเจนใหม่เข้ามาเพื่อรักษาธรรมชาติให้ยาวนานที่สุด เช่นเดียวกับชุมชนบ้านท่าระแนะและชุมชนตำบลไม้รูด ตำบลคลองใหญ่ที่กำลังเติบโต เห็นร่วมกันทำท่องเที่ยวสีเขียว นำสิ่งที่ได้รับรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ทันทีในสิ่งที่ทำได้ก่อน เช่น การลดปริมาณขยะและใช้วัสดุธรรมชาติทดแทนพลาสติก โฟม และชุมชนบ้านท่าระแนะก้าวไปถึงธรรมนูญของชุมชน และเช่นเดียวกับ อพท.ปี 2563 เป้าหมายปั้นเกาะหมากเป็น Greeen Destination ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อเป็นต้นแบบขยายผลท่องเที่ยวชุมชน