“นันทิยา เจียมอัมพร” ดันข้าวไทย ปั้นกราโนล่าแบรนด์ “พูชิ” ส่งออก

สัมภาษณ์

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตอาหารในประเทศไทยกำลังถูกพัฒนาต่อเนื่อง ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมองเห็นเทรนด์อาหารสุขภาพที่ผู้บริโภคนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช สามารถนำมาแปรรูปบริโภคได้หลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับ “นันทิยา เจียมอัมพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีซีอาร์ สแน็กแอนด์ฟู้ด จำกัด ที่หยิบข้าวสารจากโรงสีมาปรับเปลี่ยนแปรรูปเป็นขนมภายใต้แบนรด์พูชิ “Puchi” พัฒนาจนสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ พร้อมการันตีความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร

“นันทิยา” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กว่าจะมาเป็นแบรนด์ขนมพูชิ ต้องใช้เวลาพัฒนาสูตรลองผิดลองถูกนานนับปี เริ่มจากเรียนจบก็เข้ามาทำธุรกิจโรงสีสืบทอดกิจการต่อจากครอบครัว ขายข้าวถุงส่งออกภายใต้ “บริษัท ไทยเฟิร์ส เกรน จำกัด” กระทั่งรู้สึกว่าอยากจะพัฒนาข้าวให้เป็นอาหารอื่นบ้าง จึงคิดค้นทำขนมของว่างกราโนล่า (Granola) ขึ้นมามีสูตรเฉพาะตัว ไม่ใช้น้ำมัน ไม่มีการทอด ไม่ใช้สารกันบูด และไม่ใช้สารปรุงแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งขนมที่ได้มีลักษณะเหมือนข้าวพอง ทำมาจาก “ข้าวหอมมะลิ” และ “ข้าวไรซ์เบอรี่” ผลิตเป็นรสต้นตำรับและรสชาติอื่นที่มีส่วนประกอบอื่นด้วย เช่น งาดำ เมล็ดทานตะวัน สาหร่าย ข้าวโพด มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นสินค้าที่ดูแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร จนได้ผลตอบรับจากตลาดดีมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น

“ที่บ้านทำธุรกิจโรงสี อยู่กับข้าวมาตลอดตั้งแต่รุ่นคุณยาย จากการรับซื้อข้าวแล้วนำมาแพ็กใส่ถุงที่ดูจะธรรมดาเมื่อมาถึงรุ่นเราอยู่ในช่วงที่ราคาส่งออกหยุดชะงัก จึงแตกไลน์ความคิดออกมาเพื่อเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เพราะอยู่ในวงการข้าวมาตลอดชีวิต รู้แหล่งผลิต รู้ราคา ว่าสามารถหาซื้อข้าวคุณภาพที่ดีที่สุดได้จากที่ไหน ส่วนใหญ่จะอยู่ในชุมชน เป็นกลุ่มเกษตรกรท้องถิ่น อย่างข้าวไรซ์เบอรี่จะมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี ข้าวหอมมะลิจะมาจากภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเริ่มนำมาทำเป็นขนมเมื่อปี 2556 ลองผิดลองถูกร่วม 2 ปี ก่อนจะปรับสูตรให้คงที่แล้ว จึงมาก่อตั้ง “บริษัท พีซีอาร์ สแน็กแอนด์ฟู้ด จำกัด” แยกตัวออกจากธุรกิจที่บ้านเพื่อทำขนมอย่างเต็มตัว ปัจจุบันมีแบรนด์ขนมพูชิ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว มีโปรดักต์ทั้งหมดอยู่ 4 ชนิด แต่ละชนิดมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป”

ด้านการตลาดขายผ่านตลาดออนไลน์ 70% ที่เหลือวางขายในห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์, เลม่อนฟาร์ม และส่งขายในโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง มีออร์เดอร์ทุกอาทิตย์ รายได้จากปี 2561 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด หรือเติบโตขึ้นเกือบ 100% เพราะมีโปรดักต์หลายตัว ลูกค้าเริ่มรู้จักมากขึ้น หลังจากนี้จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะดันรายได้ให้เติบโตขึ้นประมาณ 30% ต่อปี ประกอบกับการตัดสินใจตั้งแต่ปี 2561 ว่าจะขยายโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 6 เดือน หรือปลายปี 2562 นี้ แม้รายได้รวมในปัจจุบันยังไม่ถึงหลัก 10 ล้านบาท แต่ตั้งเป้าว่าจะสามารถผลักดันยอดรายได้ให้ขึ้นไปถึงหลัก 10 ล้านบาทได้ภายใน 2 ปีนี้ ด้วยโปรดักต์ตัวใหม่ที่จะออกสู่ตลาดตอบโจทย์ชาวต่างชาติ เช่น รสต้มยำ เป็นต้น

“นันทิยา” เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่จดทะเบียนตั้งบริษัทด้วยเงินทุนไม่เกินหลักล้านบาท แล้วเข้ามาเปิดตัวในงาน THAIFEX-World of Food Asia ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้รับการเรียกร้องจากลูกค้าว่าต้องมีมาตรฐานสำคัญ 2 ตัว ได้แก่ หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice-GMP) และมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (The British Retail Consorti-um-BRC) เพื่อส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป โดยมีการพูดคุยเจรจากับลูกค้าจากอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส พร้อมทั้งดีลการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์และออสเตรเลียในปีนี้

“ไม่คิดว่าตัวเองจะก้าวมาไกลขนาดนี้ เหตุผลที่หันมาจับตลาดขนมที่ทำจากข้าว เพราะในยุคปัจจุบันผู้บริโภคบางส่วนมักแพ้สารอาหารจากขนมที่มีการผสมปรุงแต่ง ฉะนั้นโปรดักต์ทั้งหมดจึงเป็นข้าว เมื่อมีเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าเราก็เดินหน้าต่อ เราทดสอบเอง ให้ลูกเรากินเองด้วย จึงมั่นใจในความปลอดภัย และตอนนี้พูชิเป็นขนมจากข้าว มีคู่แข่งประมาณ 3-4 ราย เป็นการแข่งขันกันทางอ้อม แต่กราโนล่าของเราที่ทำจากข้าวไม่ได้ใส่สารกันบูด กล้าพูดเลยว่าเป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยและไม่มีคู่แข่ง สามารถการันตีได้ จึงรู้สึกว่ามองไกลกว่านั้นและจะไม่หยุดอยู่ที่บริษัทจำกัด แต่จะมีการพัฒนาต่อไป”