แพทย์บูรณาการผสมศาสตร์ไทย-จีน เตรียมโชว์ผลงานที่ มฟล.

รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย เปิดเผยว่า มฟล.ได้เปิดสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการขึ้นเป็นครั้งแรกโดยประกอบด้วยหลักสูตรปริญญาตรี 3 หลักสูตรคือหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกติ์บัณฑิต หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต และหลักสูตรกายภาพบำบัดบัณฑิต และหลักสูตรอบรมระยะสั้นอีก 3 หลักสูตรด้วย ทั้งนี้ มฟล.มีความมุ่งมั่นตั้งแต่ยุค รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีผู้จัดตั้งเริ่มพัฒนามหาวิทยาลัยว่าจะพัฒนาหลักสูตรด้านการดูแลรักษาสุขภาพ โดยมุ่งไปยังเรื่องการดูแลสุขภาพโดยไม่ต้องป่วยก่อนเป็นอันดับแรก กระทั่งปัจจุบันได้มีการตั้งสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการขึ้นมาใหม่โดยเป็นการแยกหลักสูตรออกมาจากสำนักวิชาที่มีอยู่เดิมและนำมาผสมผสานให้ลงตัว ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าไปยังทั่วโลกพบว่าปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกามีวิทยาการทางด้านศาสตร์เหล่านี้สูงที่สุด กระนั้นสำหรับ มฟล.นั้นมีความพิเศษคือได้มีการนำเอาการแพทย์แผนไทยประยุกติ์เข้ากับการแพทย์แผนจีนได้อย่างลงตัว ซึ่งยังไม่เคยพบที่ใดและมีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ต่างๆ ที่มีการเปิดสอนในศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ด้วย

รศ.ดร.ชยาพร กล่าวอีกว่าซึ่งหลังการเปิดสำนักวิชาใหม่ครั้งนี้แล้วยังจะมีการพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไปอีกโดยในปีการศึกษา 2563 จะมีการเปิดหลักสูตรในระดับบิณฑิตศึกษาเพิ่มอีก 2 หลักสูตรคือหลักสูตรการแพทย์บูรณาการมหาบัณฑิต และหลักสูตรกายภาพบำบัดมหาบัณฑิต รวมทั้งสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการยังมีพันธกิจในการสนับสนุนกรให้บริการทางการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนต่อไป

ศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี กล่าวว่าในโอกาสที่ มฟล.ก้าวสู่ปีที่ 21 และได้ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 ภายใต้หัวข้อ ต้นกล้านวัตกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วงวันที่ 7-9 ต.ค.นี้ และสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการจึงจะแสดงศักยภาพด้วยการจัดประชุมวิชาการนานาชาติร่วม ภายในงานยังมีการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์บูรณาการเพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการและผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย

ด้าน ดร.พญ.สุลักคนา กล่าวว่าปัจจุบันสำนักวิชาใหม่นี้ได้แยกตัวออกมาจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยที่ผ่านมาสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกติ์นั้นเคยเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2548 มีบัณฑิตจบการศึกษาออกไปแล้วจำนวน 188 คน สาขากายภาพบำบัด มีบัณฑิตจบออกไปแล้วจำนวน 252 คน ส่วนสาขาการแพทย์แผนจีน พึ่งเปิดสอนเมื่อปี 2557 ปัจจุบันมีนักศึกษาจำนวน 280 คนซึ่งกำลังจะจบการศึกษาออกไปในปีนี้ ทั้งนี้พบว่าบัณฑิตส่วนใหญ่ที่จบออกไปได้ทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน สถาประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือเปิดกิจการเป็นของตัวเองรวมทั้งสหวิชาชีพอื่นๆ ฯลฯ