ทุนท้องถิ่นชายแดนใต้วอนรัฐหา “ซอฟต์โลน” อุ้ม SMEs

พัฒนา - จังหวัดยะลาหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังเร่งพัฒนาโครงการต่าง ๆเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสนามบินยะลา ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.เบตงถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักธุรกิจในพื้นที่คาดหวังว่า หากเปิดบริการได้ตามแผนในปี 2563 ทำให้เกิดการเดินทางได้สะดวกขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้อีกทางหนึ่ง

“หอการค้ายะลา” ร้องรัฐหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหนุนทุนท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ขยายลงทุน หลังนักธุรกิจนอกพื้นที่หวั่นเหตุการณ์รุนแรงไม่เข้าลงทุน เผยที่ผ่านมีทุนจีนบุกลงทุนโรงงานแปรรูปทุเรียน มูลค่า 700 ล้านบาทเพียงรายเดียว ชี้เชื่อมั่น “สนามบินเบตง” เปิดบริการปี 2563 ทำพื้นที่คึกคัก

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางหอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยยะลา ปัตตานี และนราธิวาสเตรียมนำเสนอประเด็นสำคัญต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาเรื่องนโยบายการลงทุนในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามดึงนักลงทุนจากนอกพื้นที่เข้ามาลงทุน โดยการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนมากมาย แต่ไม่เป็นผลมากนัก จึงเห็นว่าจำเป็นต้องหันมาผลักดันนักลงทุนภายในจังหวัดเป็นสำคัญ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปีเพิ่มให้ผู้ประกอบการ พร้อมขยายระยะเวลาการปล่อยสินเชื่อโครงการที่มีอยู่แล้วออกไป เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้ และเกิดการจ้างงานในพื้นที่

“โครงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของหลายหน่วยงานที่ผ่านมา เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท, กองทุนฟื้นฟู ที่ช่วยกันบริหารโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) แต่ขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อของคณะกรรมการแต่ละหน่วยงานค่อนข้างเข้มข้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงเข้าถึงแหล่งทุนได้น้อย จึงอยากให้สถาบันการเงินผ่อนคลายขั้นตอนต่าง ๆ เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน การเขียนโครงการ เป็นต้น และประการสำคัญจะต้องเน้นการทำประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบ” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่เองมีการลงทุนของนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ เช่น นักลงทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน มูลค่าลงทุน 700 ล้านบาท เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนประมาณ 1.2 หมื่นตันต่อปี ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนสะพัดสู่พื้นที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานถึง 1,200 คน นอกจากนี้ทางบริษัท ไก่โต้ง จำกัด ได้ขยายการลงทุนโรงเชือดขนาดเล็ก ผ่านกระบวนการตามมาตรฐานฮาลาล วงเงินลงทุนประมาณ 22 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเชือดได้ประมาณ 200-300 ตัวต่อวัน และเชือดได้สูงสุดประมาณ 1,000 ตัว เพื่อจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญการส่งออกไปขายยังตลาดประเทศมุสลิม ที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตลาดภายในประเทศเริ่มวางขายในห้างโมเดิร์นเทรด และร้านทั่วไป

“ผมไม่ได้คาดหวังสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะลดลงเป็นศูนย์ภายใน 2 ปีนี้ แต่อยากให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นในทุกมิติ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้นในทุกปี และต้องรักษาพื้นที่ไว้ โดยขณะนี้เหตุการณ์ความตึงเครียดต่าง ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม หากสนามบินเบตง อ.เบตง จ.ยะลา แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ตามแผนในปี 2563 คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ กระเตื้องขึ้นได้ รวมถึงขยายผลไปยังอำเภอใกล้เคียง ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จะมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า หากรัฐบาล กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัด องค์กรภาครัฐ และหอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถร่วมกันกำหนดนโยบายและมาตรการจูงใจ ให้มีการลงทุนรูปแบบนี้เพิ่มขึ้น และขยายครอบคลุมหลายพื้นที่ จะมีเงินทุนหมุนเวียนและเกิดการจ้างงาน ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างดี จะส่งผลต่อภาพรวมในพื้นที่ เพราะตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ 3 ตัว ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ราคายังตกต่ำ ขณะที่พืชเศรษฐกิจอีกตัวคือทุเรียน ทิศทางราคาค่อนข้างดี ยิ่งมีทุนจีนเข้ามาสร้างโรงงานแปรรูปส่งผลดีให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่