วโรดม ปิฏกานนท์ ชูนวัตกรรมดิจิทัล ขับเคลื่อน “เชียงใหม่” โต 3 แสน ล.

สัมภาษณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศนับตั้งแต่ต้นปี 2562 การขับเคลื่อนเครื่องยนต์หลักทั้งการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการบริโภค ล้วนมีแรงกดดันที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว หากโฟกัสเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังอยู่ในอัตราเร่งการเจริญเติบโต ด้วยขนาดเศรษฐกิจปัจจุบัน 2 แสนล้านบาท จะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่กระแส digital disruption และ big data เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายธุรกิจ “วโรดม ปิฏกานนท์” ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง และแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่

มองเศรษฐกิจเชียงใหม่ครึ่งปีหลัง

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกตามเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มทยอยออกมาหลังจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ รวมถึงมีการแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อรัฐสภา คาดว่าจะมีมาตรการสำคัญในการเร่งฟื้นกำลังซื้อในพื้นที่ให้เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญทั้ง SMEs และภาคอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งมีแนวโน้มผ่อนคลายลงไป หลังการเจรจานอกรอบในเวทีกลุ่มประเทศ G20 ที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 62 ที่สรุปว่าจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกันในช่วงนี้

ส่วน จ.เชียงใหม่คาดหวังว่าภาคการท่องเที่ยวช่วงปลายปีหรือไฮซีซั่นจะกระเตื้องขึ้นและจะทำให้เศรษฐกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายกระเตื้องขึ้น เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนขับเคลื่อนหลัก โดยปี 2561 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ทั้งหมด 10,844,753 คน แบ่งเป็นคนไทย 7.5 ล้านคน ชาวต่างชาติ 3.2 ล้านคน ที่น่าสนใจคือเป็นนักท่องเที่ยวจีนกว่า 2 ล้านคน สามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือคิดเป็นวงเงิน 108,012 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 66,362 ล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 41,650 ล้านบาท รวมแล้วถือเป็นครึ่งหนึ่งของ GPP จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 150,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหอการค้าฯยังติดตามความเสี่ยงในประเด็นด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาเชิงโครงสร้างจากสังคมสูงวัย และแนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง การแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกับรายได้ในรูปเงินบาทและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา-การฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ และนักท่องเที่ยวรายได้สูง ที่สำคัญความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (digital disruption)

รับมือดิสรัปชั่น-การทำบิ๊กดาต้า

หอการค้าฯให้ความสำคัญกับการปรับตัวของสมาชิก ผู้ประกอบการด้านการใช้ big data มาประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจอย่างมาก เพราะกระแส digital disruption เป็นจุดเปลี่ยนที่ท้าทายของธุรกิจ ซึ่งการบริหารงานของหอการค้าฯจะเน้นด้านการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ให้เติบโตขึ้น ผ่านยุทธศาสตร์แผนงานโครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้มูลค่ามวลรวมด้านเศรษฐกิจเติบโตถึง 3 แสนล้านบาท ภายในปี 2565 โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “หอการค้าฯเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เชื่อมโยงสมาชิกและองค์กรพันธมิตร มุ่งตลาดการค้าต่างประเทศ” ซึ่งจะสอดคล้องกับ จ.เชียงใหม่ ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้าน smart city โดยมีขอบข่ายการทำงานอยู่ทั้งหมด 5 หัวข้อ ได้แก่ กินดี อยู่ดี มีสุข + พัฒนาการบริหารและการบริการของภาครัฐ เพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ดังนั้นการขับเคลื่อนภาคการค้า ภาคธุรกิจทุกด้านจะต้องอยู่บนฐานของนวัตกรรม ข้อมูล เทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญอย่างมาก โดยจังหวัดเชียงใหม่จะต้องวางแผนเป็นระบบ ตามองค์ประกอบของการเป็นเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน เช่น smart mobility หรือ การสัญจรอัจฉริยะ ด้วยการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การผลักดันเร่งรัดการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ก็จะต้องมองถึงระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ การจัดผังเมืองใหม่รองรับ การจัดพื้นที่เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการบิน ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน การบริการการบินท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และการเป็นศูนย์กลางการบินในอนุภูมิภาคของภาคเหนือ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกันหอการค้าฯให้ความสำคัญเรื่องการให้เชียงใหม่เป็น marketplace ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ เนื่องจากในอนาคตการค้าจะไร้พรมแดนมากขึ้นและมีระบบเทคโนโลยีในรูปแบบ smart city ที่จะเอื้อให้เชียงใหม่มีความพร้อมในการเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์และมุ่งสู่การเป็นพื้นที่ทางการตลาดได้ในหลายด้าน ได้แก่ ธุรกิจด้านการค้าชายแดน ที่จำเป็นจะต้องนำระบบไอทีมาใช้ทั้งด้านระบบโลจิสติกส์ การชำระเงิน รวมถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงผ่าน e-Marketplace ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ภาคการค้า ที่จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน startup เป็นต้น ธุรกิจด้านไมซ์ หรืออุตสาหกรรมการประชุม สัมมนา ก็จำเป็นที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด การพัฒนามูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง รวมถึงการวางแผนด้านการนำเอาระบบดิจิทัลมาใช้ และแน่นอนที่ทุกภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัว

ภาคธุรกิจในเชียงใหม่มีแนวทางสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับโลกธุรกิจที่ไร้พรมแดนอย่างไร

หอการค้าฯได้วางแนวทางในการสร้างความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจในอนาคตไว้ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้คือ การส่งเสริมและฟื้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเชียงใหม่ เชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และการบริการระหว่างประเทศ (international trade) ที่สำคัญคือการฟื้นความสัมพันธ์กับเมืองคู่มิตรที่สำคัญ หรือบ้านพี่เมืองน้องของหอการค้าฯและจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นการฟื้นฟู และเชื่อมโยงสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นรูปธรรมให้ก้าวสู่การค้าสากล

วโรดมบอกว่า จะผลักดันโครงการสำคัญ ๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคตที่สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การเป็นนครแห่งการดูแลสุขภาพ (wellness city) และ long stay-retirement tourism ได้แก่ โครงการเวชนคร (medicopolis) เป็นต้น โครงการ smart city, โครงการเชียงใหม่แฟร์เทรด, โครงการ MICE city , การผลักดันพื้นที่เชียงใหม่เป็นมรดกโลกในโซนที่เหมาะสม (world heritage city), การเป็นเมืองการศึกษา (university town-education hub) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่เชื่อมโยงทุกภูมิภาคของประเทศและระหว่างประเทศ, โครงการเมืองการบินภาคเหนือ หรือ northern aeropolis รวมถึงการทำบทบาทเป็นองค์กรชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ในระยะยาวผ่านการใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐกิจอนาคต โดยริเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจเชียงใหม่ระยะ 20 ปี Chiang Mai economic future plan 2040 เป็นต้น

ประเด็นสำคัญ หอการค้าฯยังให้ความสำคัญกับการนำเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัด เนื่องจากมองแนวโน้มในอนาคตอันใกล้ว่า มูลค่าการค้าแบบ e-Commerce มีอัตราการเติบโตสูงและขยายตัวเร็วมาก โดยหอการค้าฯกำลังสร้างฐานข้อมูลด้านนี้ขึ้นมาโดยตรง เพราะเชียงใหม่มีมูลค่าการค้าแบบออนไลน์สูง การเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสดก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นการรับรู้ให้มากขึ้น เพราะจะลดต้นทุนรวมถึงสะดวกสำหรับผู้ขายด้วย รวมถึงจะได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจระบบการส่งออกสินค้าไปยังจีน ในระบบ cross border e-Commerce ด้วย ที่จะทำให้ลดต้นทุนทางด้านภาษี

นอกจากนี้ยังพบว่าเชียงใหม่มีสถิติธุรกรรมการนำส่งพัสดุทางไปรษณีย์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเคอรี่และไปรษณีย์ไทย ดังนั้น เมื่อธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมีธุรกรรมที่ขยายตัวรวดเร็ว ย่อมหมายความถึงธุรกิจดั้งเดิมที่เป็น off line ยอดจำหน่ายจะถูกกระทบไปด้วย และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต หอการค้าจะได้เร่งกระตุ้นผู้ประกอบการ รวมถึงสมาชิกหอการค้าได้ปรับตัว และเข้าสู่ฐานเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต เป้าหมายหอการค้าก็จะผลักดันต่อเนื่องให้เชียงใหม่เป็นเมือง market-place ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และการเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศต่อไป SMEs ต้องปรับตัวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตต่อไป


ในภาวะแรงกดดันที่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ และความท้าทายของ digital disruption การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงใหม่จึงต้องรุกและเร่งติดเครื่องให้ทันต่อกระแสโลกยุคดิจิทัล