STeP หนุน SMEs ใช้ Big Data รุกธุรกิจ

ในช่วงระยะเวลากว่า 6 ปี “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” (STeP) มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้ามาใช้บริการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมผ่านงานวิจัยกว่า 700 บริษัท และสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (startup) มากกว่า 140 บริษัท โดย 40 บริษัทเป็นสัดส่วนของ startup ในจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วมาก ทั้งการซื้อขายสินค้า การเดินทาง การลงทุน ธุรกิจอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี การศึกษา ฯลฯ ล้วนเคลื่อนที่อยู่บนฐานข้อมูลดิจิทัลทั้งสิ้น กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรา ส่งผลให้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง และต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เริ่มต้นบทสนทนากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเหนือมีความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์และมีสินค้าบริการที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่มีคุณค่าหรือมีระดับ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีมีการเคลื่อนที่รวดเร็ว โดยเฉพาะแนวโน้มการใช้ big data คือปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ทุกรูปแบบมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

“อุทยานวิทยาศาสตร์ฯมองว่ายุคนี้เป็นโลกของ big data ใครมี data คนนั้นชนะ เนื่องจากข้อมูลที่เกิดการสังเคราะห์ทำให้ธุรกิจมีความแตกต่าง วิธีคิดวิธีการลงทุนในยุคนี้ไม่ได้อยู่ในวิธีคิดแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับปริมาณข้อมูลรอบด้าน ปัจจุบันเรามีค่าใช้จ่ายเรื่อง cloud ที่สูงมาก ถ้ามี platform หรือพื้นที่กลางที่ไม่แพงมาก จะทำให้ธุรกิจเข้าถึงได้ง่าย การเชื่อมถึง big data จะสะดวกยิ่งขึ้น”

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้สตาร์ตอัพราว 50% ไม่ประสบความสำเร็จคือการมองตลาดไม่ขาด ว่าตลาดไม่มีจริง หรือตลาดมีจริง ตรงกับความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้นหรือไม่ อีกปัจจัยหนึ่งคือ ผู้ก่อตั้ง-ผู้สร้าง (founder) ซึ่งเราพบว่าผู้สร้างธุรกิจสตาร์ตอัพจะอยู่ในธุรกิจได้นานคือต้องมีความนิ่งมาก หุ้นส่วนบางคนมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ไปไม่รอด และปัจจัยสุดท้ายคือเงิน (venture capital) มีบทบาทกับการลงทุนในสตาร์ตอัพ ปัญหาหลักที่ทำให้สตาร์ตอัพไปไม่รอด แม้อาจจะมีแผนธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ปัญหาคือการขาดเงินทุนสนับสนุน

ดังนั้นธุรกิจในปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะ SMEs ที่ส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจแบบครอบครัว ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันมีแรงเสียดทานสูงมาก เช่น ถ้าต้องการให้คนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารอาจจะมีความกังวล เป็นต้น ขณะที่ SMEs ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ผลิตด้วยต้นทุนต่ำ แต่ประสิทธิภาพของการผลิตสูง เมื่อนำสินค้าไปขายก็ขายไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเร่งปรับตัว

“ถ้าเอสเอ็มอีหรือสตาร์ตอัพไม่เปลี่ยนจะอยู่ไม่ได้ เพราะเวทีที่ชกกับเราไม่มีขอบเขต เราไม่ได้แข่งกับร้านค้าในเชียงใหม่ แต่เราแข่งกับใครก็ได้ ถ้ายังเป็นรูปแบบการแข่งขันเดิม ภายใน 3-5 ปีจะเห็นผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจ เทคโนโลยีไปเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโหมดธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลอย่าง big data ที่ผมมองว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญนำมากำหนดทิศทางองค์กรได้อย่างรวดเร็วแบบ real time และภายใน 10 ปีข้างหน้า big data จะเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้และเป็นตัวชี้วัดความอยู่รอดทางธุรกิจด้วย”