หนองคายจับมือซีพีเอฟทำระบบป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในฟาร์ม

REUTERS

ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย ร่วมกับ ซีพีเอฟ และ ซีวาแอนิมัล เฮลธ์ เพิ่มศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในจังหวัดจัดทำระบบการเลี้ยงป้องกันโรคในฟาร์มสุกร และป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (22 ก.ค.2562) ที่โรงแรมรอยัลนาคารา อ.เมือง จ.หนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการฝึกอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยสำหรับการจัดทำระบบการป้องกันโรคในฟาร์มสุกรรายย่อย เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐคือจังหวัดหนองคาย,ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย กับภาคเอกชนคือ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย)และ บ.ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย(น้อยกว่า 50 ตัว)ในพื้นที่ จ.หนองคาย กว่า 280 คน เข้าร่วมโครงการ

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จังหวัดหนองคายมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเกษตรกรรายย่อย ให้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรคระบาดนี้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสียหายที่มีต่อพี่น้องเกษตรกรรวมถึงภาคเกษตรต่อเนื่อง ที่มีมูลค่ามหาศาลหากเกิดโรคระบาด

นายวิบูลย์ เลิศวัฒนาสมบัติ ปศุสัตว์จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าว และขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรกร ปศุสัตว์จังหวัดให้ความสำคัญกับ ฟาร์มเลี้ยงหมูรายย่อย

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มแบบเปิด มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย ในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.หนองคาย มีผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกว่า 300 ฟาร์ม มีจำนวนหมูกว่า 5,000 ตัว ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกับ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) มาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อให้คำแนะนำเตรียมความพร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ได้ปรับระบบการเลี้ยงให้มีระบบป้องกันโรคที่ดี รู้วิธีสังเกตอาการของโรค วิธีปฎิบัติในกรณีที่พบหมูป่วย รวมถึงมาตรการเยียวยา ซึ่งเป็นการร่วมมือร่วมใจช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันโรคระบาดฯ ไม่ให้แพร่ระบาดมาสู่ประเทศไทยตามแนวชายแดน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก บจ.ซีวา แอนิมัล เฮลธ์ (ประเทศไทย) อีกด้วย

ด้าน น.สพ.คุณวุฒิ เครือลอย รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯมีเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนซึ่งเป็นฟาร์มที่เลี้ยงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีระบบการป้องกันโรคซึ่งผ่านการรับรองตามมาตรฐานฟาร์ม(GAP) จากกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้บริษัทฯ มีความห่วงใยผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอื่นๆ เช่นกัน

เนื่องจากเป็นเครื่องจักรสำคัญในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และในการอบรมฯ เกษตรกรรายย่อยในครั้งนี้ บริษัทฯได้นำสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อให้มีความรู้ และนำระบบป้องกันโรค สำหรับฟาร์มเปิดไปปฏิบัติ เช่น การห้ามนำเศษอาหารเหลือจากการบริโภคมาให้หมูกิน การล้างทำความสะอาดฟาร์มและอุปกรณ์ด้วยยาฆ่าเชื้อ การใส่รองเท้าบู๊ทในฟาร์ม การพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ขนส่งหมูและอาหารสัตว์ การเข้มงวดห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในฟาร์ม เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด โดยมีการติดตามสถานการณ์การระบาดและเตรียมแผนรับมือมาล่วงหน้าแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จนปลายปีที่แล้วสถานการณ์แพร่ระบาดเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแล้ว และทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการป้องกันตามแผนที่วางไว้ทันที

โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จัดสร้างศูนย์พ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ด่านชายแดน 2 แห่ง ที่เชียงรายและมุกดาหาร ด้วยงบประมาณ 4,000,000 บาทร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด จัดสัมมนาใหญ่ ให้ความรู้เรื่องโรค ASF กับเกษตรกรรายย่อย ทุกจังหวัดในเขตภาคอีสาน ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ให้ความรู้ มอบยาฆ่าเชื้อ และมอบสื่อความรู้ในการป้องกันโรค ASF ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยเป็นอีกหนึ่งเฟืองจักรสำคัญที่จะช่วยป้องกันโรค ASF ไม่ให้ระบาดเข้ามาในประเทศไทย