เชียงใหม่แล้งหนัก! เร่งมาตรการจัดการน้ำ“SUN”หนุนคอนแทรคฟาร์มมิ่งช่วยเกษตรกร

จากรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาประกาศถึงปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่สภาพอากาศปีนี้จะร้อนยาวนาน และภัยแล้งจะหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562 ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อย ทำให้ปริมาณน้ำฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำฯ สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลปริมาณฝนที่ตกสะสมปี 2562 ถึงปัจจุบัน ของจังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณเท่ากับ 165 มม. ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้ว 65% ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขามีปริมารณน้อย โดยเฉพาะแม่น้ำปิงมีปริมาณน้ำไหลผ่านสะสมที่สะพานนวรัฐเท่ากับ 131 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 55% มีผลกระทบต่อการใช้น้ำทุกภาคส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำ และเกิดภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัด

ล่าสุด ได้กำหนดแผนงานและมาตรการในการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนในช่วงเกิดภาวะภัยแล้งในปี 2562 นี้ ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มข้น คือ 1.เก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายน้ำจากเขื่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเส้นควบคุมตอนล่าง โดย ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เก็บกักน้ำ 75.676 ล้าน ลบ.ม. (28.56%) น้อยกว่าปี 2561 ในปริมาณ 45.684 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เก็บกักน้ำ 44.186 ล้าน ลบ.ม. (16.8%)น้อยกว่าปี 2561 ปริมาณ 27.906 ล้าน ลบ.ม. 2.บริหารปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงระบบคลองชลประทาน แทนการบริหารน้ำที่ระบายจากเขื่อน 3.ให้เกษตรกรทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ซึ่งตามแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 303,049 ไร่ ปลูกไปแล้ว 37,961 ไร่

4.ดำเนินมาตรการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่งน้ำแบบรอบเวร หมุนเวียนในแต่ละพื้นที่ 5.จัดแผนหมุนเวียน จัดรอบเวรการใช้น้ำในระบบลุ่มน้ำ โดยจัดรอบเวรระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดช่วยเหลือ 6.สนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของผลผลิต 7.บริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวดและสอดคล้องกับสถานการณ์ 8.พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ 9.พิจารณาเสริมแหล่งน้ำด้วยบ่อน้ำบาดาล 10.จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อพร้อมการช่วยเหลือ

นางสาวหนึ่งฤทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วย คือ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งเพื่อการเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนเก็บกัก ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณอำเภอแม่แจ่ม พร้าว อมก๋อย ดอยเต่า สะเมิง ดอยสะเก็ด ดอยหล่อ และกัลยาณิวัฒนา พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราและเขื่อนภูมิพล

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไม่มากนัก ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ขณะนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักต่ำกว่าร้อยละ 30

ด้านนายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN กล่าวว่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาภัยแล้งที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงในปีนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรที่กำลังเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างมาก ทางบริษัทฯ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีโครงการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งในปีนี้ เนื่องจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยช่วยเหลือและส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนบนที่เคยทำนาใช้น้ำมาก หันมาปลูกข้าวโพดหวานแทน ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อยและเป็นพืชทนแล้ง ใช้เงินลงทุนไม่มาก อีกทั้งใช้เวลาปลูกเพียง 70-75 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

โดยทางบริษัทฯ จะทำเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ซึ่งเป็นระบบการเกษตร เพาะปลูกพืชที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกรกับบริษัทฯ โดยจะซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกรในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า “ราคาประกัน” เป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงวิกฤติภัยแล้งปีนี้

นายองอาจ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีเกษตรกรที่ทำสัญญาแบบ Contract Farming จำนวน 6,128 ราย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในภาคเหนือตอนบน รวมทั้งสิ้น 57,070 ไร่