กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งให้ความรู้หนุนเกษตรกรตรังผลิตสินค้ามาตรฐานส่งออก

ผู้ตรวจราชการ เขต 5,6 ขอให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสินค้าปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคสินค้าเกษตร เผยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศต้องผ่านการรับรองจาก GMP

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมศาลกากลางจังหวัดตรัง ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง เข้าร่วมการประชุมการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยมีนางอุมาพร พิมลบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เขต 5 ,6 เป็นประธานในที่ประชุม

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ ,โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร,โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmew) ,โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning Agri-Map) และโครงการอื่นๆอีก 18 โครงการ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง รายงานผลการดำเนินงาน

นางอุมาพร พิมลบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เขต 5 ,6 เปิดเผยว่า จากการตรวจราชการในรอบที่ 1 ปัญหาที่พบคือเกษตรกรในภาคใต้บางจังหวัดทำการเกษตรในพื้นที่ป่าเขาและไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้มีการปรับขอรับรอง GMP ด้วยการใช้สำเนาสัญญาเช่า หรือการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่เหล่านั้นทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว มาขอรับรองมาตรฐาน GMP ซึ่งตลาดยอมรับ ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่เกษตรกรจะไม่เข้าใจว่าการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรมีประโยชน์อย่างไร

กระทรวงเกษตรฯ มีความประสงค์ที่จะให้เกษตรกรมีความเข้าใจในเรื่องของการับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ได้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เมื่อมีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตก็จะมีความปลอดภัยด้วย โดยคำนึงถึงสองส่วนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าการส่งสินค้าเกษตรไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ถ้าทุเรียนไม่มีใบรับรองGMP ทางจีนก็จะไม่รับซื้อ

“เพราะฉะนั้นเกษตรกรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบว่าการทำสินค้าเกษตรมาตรฐานทุกประเภทมีความสำคัญ ถ้าเกษตรกรผลิตสินค้าปลอดภัยก็จะมีการโอกาสจำหน่ายสินค้าจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศได้ การส่งออกทุเรียนและมังคุด ต้องผ่านล้งที่ผ่านการรับรองGMP ด้วย ซึ่งในหลายจังหวัดในภาคใต้ทำการขอรับรองล้ง GMP สำหรับผู้ปลูกในปีถัดไปก็ต้องได้รับการรับรอง GMP ด้วย” นางอุมาพรกล่าว


นางอุมาพร กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นเกษตรกรควรมีความเข้าใจถึงบริบทการผลิตสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ในช่วงสิ้นปีงบประมาณหรือช่วงปลายปี เกรงว่าปัญหาน้ำในภาคใต้ เพราะว่าในช่วงนี้ฝนตกต้องไม่ตามฤดูกาลจึงให้ทางชลประทานเฝ้าระวังในเรื่องของอ่างเก็บน้ำ ต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรในช่วงปลายปี ซึ่งภาคใต้ยังไม่พบปัญหาเรื่องน้ำ แต่ต้องมีการเฝ้าระวังและการบริหารจัดการน้ำที่ดีในช่วงปลายปีนี้