วิจัยเผยตลาดภูธรเงินสะพัดปีละกว่า 3 เเสนล้าน เปิด 3 สื่อครองใจคนท้องถิ่น 54 ล้านคน

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 60 เวลา 13.00 น. วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU เปิดงานวิจัย “ภูธร มาร์เก็ตติ้ง ล้วงลึกอินไซต์…สื่อเเบบใด จับใจตลาดท้องถิ่น” ที่ห้องสัมมนา 603 ชั้น 6 อาคารมิว มหาวิทยาลัยการจัดการมหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล

อาจารย์สุพรรณี วาทยะกร อาจารย์สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาการจัดสัมมนาในครั้งนี้ กล่าวว่า การเปลี่ยนเเปลงทางสังคมเเละเทคโนโลยี นำความเจริญขยายไปสู่พื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจ ต้องปรับตัวด้านกลยุทธ์ เเละการสื่อสารการตลาด ให้สอดคล้องกับความชอบเเละไลฟ์สไตล์ของคนในต่างจังหวัด เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ โดยมีจำนวนกว่า 54 ล้านคน คิดเป็น 84% ของประชากรรวมทั้งประเทศ จากจำนวนทั้งสิ้น 65.7 ล้านคน

หากเเบรนด์สินค้าเเละผลิตภัณฑ์สามารถครองใจผู้บริโภคต่างจังหวัดได้ นับว่ามีโอกาสที่จะสร้างกำไรมหาศาล เนื่องจากตลาดภูธรเป็นตลาดใหญ่มีเม็ดเงินสะพัด มากกว่าปีละ 3 เเสนล้านบาท โดยภาคที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนมากที่สุดคือ ภาคใต้ เเละภาคกลาง ประมาณเดือนละ 20,000 บาท รองลงมาคือภาคเหนือ เเละภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณเดือนละ 15,000 บาท เเละสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือสินค้า “อุปโภคบริโภค”

ด้าน นายวรท ตรีรัตน์ศิริกุล นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงการศึกษาเเละวิจัยในเรื่องการสื่อสารการตลาดเเบบบูรณาการ คือการใช้สื่อหลากหลายรูปแบบผสมผสานกัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดไปยังกลุ่มเป้าหมาย

โดยการสำรวจกลุ่มคน “ภูธร” คือคนที่เกิดเเละอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดทั้ง 4 ภาค ได้เเก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ เเละภาคกลาง (ไม่รวม กทม.) จำนวน 821 คน อายุระหว่าง 20-50 ปี มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 9,001-20,000 บาท เเละสัมภาษณ์เชิงลึกอีก 32 คน ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน พบว่า กลุ่มคนต่างจังหวัดมีมูลค่าตลาดจับจ่ายเฉลี่ย 307,000 ล้านบาท

นายวรท เล่าว่า จากการสำรวจพบว่ากลุ่มคนภูธรมีการเข้าถึงสื่อต่างๆ กว่า 9 ช่องทาง ได้เเก่ 1) สื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายเเละจดจำเเบรนด์สินค้าจากการดูโทรทัศน์ที่บ้าน ซึ่งช่วงเวลาที่ดูมากที่สุดคือ 20.00-00.00 น. 2) สื่อกลางเเจ้ง ที่พบเห็นได้ทั่วไป 3) สื่อออนไลน์ เป็นสื่อที่ผู้คนเข้าถึงมากที่สุดจากการเล่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาเเกรม 4) วิทยุ เป็นสื่อที่เสมือนช่วยซัพพอร์ตสามสื่อเเรกที่กล่าวมา ซึ่งสื่อเหล่านี้มีผลต่อการจดจำของคนภูธร

ด้านสื่อที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ได้เเก่ 1) สื่อ ณ จุดขาย ที่เห็นได้ตามร้านค้า ห้าง เพื่อดึงดูดลูกค้าเเละบอกสรรพคุณของสินค้าให้ได้รับรู้ 2) ใบปลิว โดยคนภูธรจะสนใจใบปลิวขนาดครึ่ง A4 เเละมีรูปภาพสวยงาม เนื้อหาไม่เยอะจนเกินไป 3) บูธกิจกรรม ตามงานต่างๆ 4) การบอกต่อ อีกหนึ่งช่องทางที่คนภูธรเข้าถึงมากที่สุด จากการบอกต่อของเพื่อน เเละเข้าไปติดตามสานต่อ 5) การขายโดยพนักงาน ช่องทางนี้จะลงไปพูดคุยกับลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด เเละเจาะจงเล่ารายละเอียดให้ฟังได้

โดยรูปแบบการสื่อสารการตลาด 3 อันดับเเรกที่คนต่างจังหวัดเข้าถึงเเละมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอันดับเเรกได้เเก่ “สื่อออนไลน์” พบว่าในช่วงเวลา 20.00-00.00 น. เป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่นิยมเล่น ซึ่งสื่อที่มีการเข้าถึงมากที่สุดคือ เฟซบุ๊ก เพื่อใช้ติดตามเพื่อน อ่านข่าว เเละซื้อของออนไลน์เฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง รองลงมาคือ ไลน์ มีไว้เพื่อติดต่อสื่อสาร รั้งท้ายด้วยยูทูบเเละอินสตาเเกรม ซึ่งพฤติกรรมของคนต่างจังหวัดจะชอบดูหนังย้อนหลังผ่านยูทูบ

“ผลวิจัยพบว่า 88% ชอบกดข้ามโฆษณา ยกเว้นโฆษณาตลกเพราะเเทรกด้วยความบันเทิง เเต่คนกลับจำเเบรนด์สินค้าไม่ค่อยได้ ต่อมาเป็นโฆษณาปนเศร้าหรือดราม่า เราพบว่าคนภาคใต้จะชอบโฆษณาที่มีเพลงประกอบ เเต่การสัมภาษณ์เชิงลึกทำให้เราเห็นว่าคนในภาคกลางเเละภาคอีสานชอบการโพสต์รูปแบบอัลบั้มมาก เเต่คนภาคเหนือเห็นต่างเพราะคิดว่าการโพสต์ภาพเดียวเเละมีเนื้อหาอ่านจบในรูปเลยดีมากกว่า” นายวรท กล่าว

ต่อมาสื่อการตลาดอันดับสองที่คนต่างจังหวัดเข้าถึงคือ “สื่อภายในร้านค้า” นายวรท เผยว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 90% เคยเห็นสื่อภายในร้านค้า เเละตัดสินใจซื้อสินค้าจากสื่อประเภทนี้ถึง 86% ผลสำรวจยังเผยให้เห็นว่า ป้ายยื่นเเละป้ายที่อยู่บนชั้นวาง เป็นป้ายที่กลุ่มตัวอย่างพบเห็นบ่อยสุด เนื่องจากอ่านง่ายเเละสามารถตัดสินใจซื้อได้ทันที

“คนชอบป้ายบอกคุณสมบัติสินค้า เเต่ไม่ชอบป้ายสติ๊กเกอร์ที่ติดตามพื้น ส่วนโปรโมชั่นที่ได้ใจไปเต็มๆ คือ 1 เเถม 1 เเต่การซื้อสินค้าครบจำนวนเงินที่กำหนดเเล้วนำมาเเลกสินค้าพรีเมี่ยม เป็นโปรโมชั่นที่คนต่างจังหวัดไม่ชอบ เพราะไม่คุ้มเงิน”

สำหรับสื่อที่สาม ที่คนต่างจังหวัดเข้าถึงเเละมีผลต่อการตัดสินใจซื้อคือ “สื่อทีวี” ผลสำรวจคนต่างจังหวัดเข้าถึงทีวีคิดเป็น 89% ภาคกลางเเละภาคอีสานรับสื่อประเภทนี้มากที่สุด เรื่องน่าสนใจคือคนต่างจังหวัดจดจำเเบรนด์สินค้าได้ถึง 88% โดยคนจดจำสินค้าผ่านโฆษณาเเฝงตามละครหรือซีรีส์มากกว่าการขึ้นป้ายโลโก้สนับสนุนเหมือนในอดีต ซึ่งช่องที่ครองเรตติ้งชาวภูธรมากที่สุดคือ ช่อง one(31) รองลงมาคือช่อง 3 เเละช่อง 7

ขณะที่ นายประสงค์ เเข็งกิจ Sales Department Manager บริษัท ซิงเกอร์ ไทยเเลนด์ จำกัด เผยถึงการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดว่า เรื่องเเรกต้องทำความเข้าใจคนต่างจังหวัด จะเห็นว่าซิงเกอร์ไม่ได้เข้าผ่านสื่อโทรทัศน์ เเต่เข้าถึงลูกค้าผ่านทีมขาย เอาใบปลิวไปเดินเคาะประตูบ้านลูกค้าเพื่อพูดคุย ซึ่งพนักงานของเราไม่ได้ขายเเค่สินค้าเราอย่างเดียว บางคนอาจเป็นคนรู้จักเเละน่าเชื่อถือในหมู่บ้าน เเต่เมื่อทำงานหลักเสร็จ งานรองคือการขายสินค้าของซิงเกอร์ ในส่วนนี้จะเสริมความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าเเละเกิดการบอกต่อกัน

ซึ่งการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดของที่ปรึกษาด้านการตลาด ธุรกิจที่พักเครือ Star Group “รศ.ดร.ยุทธนา ธรรมเจริญ” สิ่งเเรกต้องทำคือการจัดกลุ่มเป้าหมายใหชัดเจน อาทิ หากจะทำห้าง ต้องดูกลุ่มลูกค้าออกไปถึง 20 กิโลเมตร ว่าจะเข้าถึงเเละมีกำลังซื้อมากน้อยเพียงใด ต้องย้ำ ซ้ำ เเละทวน เพื่อเข้าถึงตลาดภูธร อย่างไรก็ตามงานวิจัยเป็นเพียงตัวช่วยชี้เเนวทาง ไม่ได้เป็นคำตอบ ศึกษาไว้เป็นความรู้ เเต่อย่าเชื่อทั้งหมด

นวลจันทร์ เหรียญมณี VP Pre-paid บริษัท DTAC เล่าว่า การจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต้องทำให้ธุรกิจของเราง่าย ลงไปสำรวจลูกค้าเพื่อมาปรับปรุงต่อยอด ดีเเทคส่งพนักงานออกไปพูดคุยกับลูกค้า ในบางทีไอเดียใหม่ๆ ทางธุรกิจมาจากการลงพื้นที่ไปคุยว่าพวกเขาต้องการอะไร เเละเอามาต่อยอด เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น