รฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดงเชียงใหม่ กลุ่มทุนท้องถิ่นเล็งระดมเงินร่วม 6 พัน ล.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่า วันนี้ (31 กรกฎาคม 2562) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ)
งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา เข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ณ เชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่


นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวคิดการออกแบบรูปแบบโครงการ แนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในปรับปรุงโครงการต่อไป

รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานช่วงที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ซึ่งตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับใต้ดินและระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือ – ใต้ รวมระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 12 สถานี (ยกระดับ 6 สถานี และใต้ดิน 6 สถานี) ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง (แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี)


“ระยะเวลาในการศึกษาโครงการ 1 ปี โดยเราได้เริ่มศึกษามาราว 2 เดือนแล้ว คาดว่าจะนำเสนอโครงการเข้า ครม.ในราวต้นปี 2563 จะเริ่มก่อสร้างได้ราวปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 7 ปี”

โดย รฟม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้ดำเนินการก่อสร้าง ครั้งละ 1 เส้นทาง เริ่มจากสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นลำดับแรก ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย จากนั้น ราวปี 2564 จะเริ่มทำการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกศรีบัวเงินพัฒนา) และสายสีเขียว(ช่วงแยกรวมโชคมีชัย-ท่าอากาศยานเชียงใหม่) เป็นลำดับต่อไป

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า มูลค่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร อยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP ในสัดส่วนรัฐ 80% เอกชน 20% ซึ่งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มทุนในท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมโครงการและส่งเสริมให้โครงการมีศักยภาพและยั่งยืน


ด้านนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ จะเป็นผู้นำในการชักชวนกลุ่มทุนในจังหวัดเชียงใหม่ให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ในสัดส่วนการลงทุน 20% หรือราว 6,000 ล้านบาท จากมูลค่าการลงทุนโครงการทั้งหมด 30,000 ล้านบาท โดย อบจ.เชียงใหม่ และกลุ่มทุนในท้องถิ่นเชียงใหม่จะลงทุนในสัดส่วน 20% นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก ขณะนี้มีกลุ่มทุนไม่ต่ำกว่า 10 รายให้ความสนใจ อาทิ กลุ่มทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ (โครงการอรสิริน) กลุ่มนิยมพานิช โดยเร็วๆนี้

อบจ.เชียงใหม่จะร่วมกับ รฟม. จัดดินเนอร์ ทอลค์ เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อเชิญชวนนักธุรกิจหรือกลุ่มทุนในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมลงทุน

นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ (กรีนบัส) กล่าวว่า ในส่วนของกรีนบัส มีความสนใจที่จะลงทุนในระบบขนส่งเสริม (Feeder System) วิ่งเชื่อมต่อการเดินทางระบบรถไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบขนส่งหลัก ในเส้นทางวงแหวนรอบ 1 รอบ 2 และรอบ 3 ที่จำเป็นต้องมี Feeder ขนคนให้เข้าถึงบริการรถไฟฟ้า โดยจะนำรถเมล์ของกรีนบัสที่มีอยู่มาให้บริการ ทั้งนี้ ในอนาคตรูปแบบการเดินทางของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ด้วยการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก ซึ่งจะทำให้มีการใช้รถส่วนตัวลดลง และช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างมาก ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น