ผู้ส่งออกหยุดซื้อมังคุดใต้ทำราคาดิ่ง แล้งทำตกเกรด-ต้นทุนแรงงานพุ่ง-กฎเงินกู้ไม่เอื้อ

ล้งไร้ GMP - ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผลผลิตมังคุดในภาคใต้เกิดปัญหาล้นตลาด ราคาตกอย่างหนัก เพราะไม่สามารถส่งออกได้ตามมาตรฐานที่จีนกำหนดหลายประเด็น โดยเฉพาะโรงคัดบรรจุ (ล้ง) หลายแห่งในภาคใต้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน GMP ส่งผลให้ต้องขนส่งมังคุดจากภาคใต้มาบรรจุที่ล้งในจังหวัดจันทบุรีที่ผ่านมาตรฐาน GMP แทน

ผู้ส่งออกปิดป้ายหยุดรับซื้อมังคุดใต้หน้าล้ง เผยเหตุมังคุดราคาตก เจอหลายปัจจัยรุมเร้า คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ผิวกลาก-ลาย จีนไม่นิยมฉุดราคาลงดิ่ง แถมเจอปัญหาถูกบังคับต้องใช้แรงงานต่างด้าว MOU แบกค่าใช้จ่าย 20,000-30,000 บาท/คน ต้นทุนสูงสู้ไม่ไหว ขณะที่เงื่อนไขเงินกู้ 1,000 ล้าน จ่ายชดเชยดอกเบี้ย 3% กระทรวงพาณิชย์ไม่เอื้อ เหตุผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้ชื่อบุคคลส่งออกถึง 80% หมดสิทธิ์กู้ วอนรัฐเร่งแก้ปัญหาให้ตรงจุด ดันเปิดตลาดส่งออกใหม่เพิ่ม

หลังจากทางการจีนได้วางมาตรการตรวจสอบเข้มงวดในการนำเข้าผลไม้ 5 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง นับตั้งแต่ 1 ก.ค. 2562 โดยมีข้อกำหนด 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุหรือล้งที่จะส่งออกไปจีนต้องได้รับมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) 2.ล้งต้องซื้อผลไม้จากสวนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) 3.กระทรวงศุลกากรสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ขอให้ทางการไทยส่งรายชื่อล้งที่ผ่านเงื่อนไขในข้อ 1 และ 2 ไปให้ทางการจีนตรวจสอบ หากทางการจีนประกาศขึ้นทะเบียน (DOA) แล้วถึงจะส่งออกได้นั้น ถือเป็นช่วงจังหวะที่ผลไม้ในภาคตะวันออกหมดฤดู ทำให้ความเข้มงวดอย่างหนักเริ่มปรากฏชัดในการส่งออกผลไม้ของภาคใต้ที่เพิ่งเข้าสู่ต้นฤดู โดยเฉพาะผลผลิตมังคุดที่ออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหามังคุดล้นตลาด ราคาตกต่ำอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพร และนครศรีธรรมราช

และล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับผลผลิตผลไม้ ปี 2562 ถึงแนวทางแก้ปัญหามังคุดราคาตกต่ำและล้นตลาดว่า ได้มีมาตรการแก้ปัญหาผลไม้ส่งออกระยะสั้น 6 เดือน โดยมีงบประมาณ 1,000 ล้านบาท และจะใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ส่วนตลาดภายในให้หน่วยงานภาครัฐ สหกรณ์ ช่วยไม่ให้มังคุดกระจุกตัวอยู่ภาคใต้นั้น

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการส่งออกมังคุดกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการประชุมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการส่งออก ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เนื่องจากช่วงเดือนที่ผ่านมามีปัญหามากมายในการส่งออกมังคุดของภาคใต้ ทั้งข้อจำกัดเรื่องที่ล้งใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน GMP รวมถึงสวนในภาคใต้จำนวนมากไม่ได้มาตรฐาน GAP อีกทั้งจำนวนล้งที่ผ่านมาตรฐาน DOA มีจำนวนไม่เพียงพอในการเข้าไปรับซื้อผลผลิตได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีล้งอีกจำนวนหนึ่งที่รอขึ้นทะเบียน DOA รอบที่ 3 เพิ่งประกาศรายชื่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การเคลื่อนย้ายแรงงานทำให้ไม่สามารถนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความเชี่ยวชาญที่ทำงานในภาคตะวันออกไปที่ภาคใต้ได้ เนื่องจากการใช้หลักฐานบอร์เดอร์เข้ามาทำงานมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-3,000 บาท/คน แต่ภาคใต้ต้องใช้แรงงานต่างด้าวทำบันทึกข้อตกลง (MOU) มีค่าใช้จ่าย 20,000-30,000 บาท/คน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว

“หลังจากทางการจีนประกาศขึ้นทะเบียน DOA ล้งรอบที่ 3 ทำให้ปัญหาการส่งออกคลี่คลายไปบ้างแล้ว จากช่วงก่อนหน้าที่มีปัญหามังคุดล้นตลาดจนต้องปิดป้ายหยุดรับซื้อหน้าล้ง ตอนนี้ยังมีอยู่บ้าง แต่สภาพจริง ๆ แล้วตลาดจีนยังมีความต้องการอยู่ แต่คุณภาพของมังคุดใต้ปีนี้ภาวะแล้งจัดขาดน้ำทำให้ลูกเล็ก ผิวลาย กลากถึง 70-80% ตลาดจีนไม่นิยมเหมือนมังคุดผิวมันหูเขียวที่มีเพียง 20-30% เมื่อส่งมังคุดผิวลายออกไปมากเกิดการล้นตลาดราคาถูกมาก หากภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์คุณภาพมังคุดผิวลาย รสชาติหวานกว่าผิวมัน ไม่มีสารเคมี หาจุดแข็งที่มีในจุดอ่อน อนาคตตลาดมังคุดผิวลายน่าจะดีขึ้น

ส่วนปัญหาแรงงานที่ชำนาญต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นกัมพูชาที่ทำมานาน น่าจะมีมาตรการควบคุมระยะสั้นเฉพาะพื้นที่และนโยบายระยะยาวที่ไม่กระทบกับความมั่นคง เพราะเป็นต้นทุนที่สูงมาก ถ้าโรงงานใหญ่ใช้แรงงานประมาณ 100 -200 คน ค่าใช้จ่ายกว่า 2 ล้านบาท เสียเงินไปแล้วไม่แน่ใจว่าจะอยู่กับเราตลอดหรือไม่ ถ้าเป็นธุรกิจ SMEs ไม่สามารถทำได้ มีการเสนอให้ใช้นักโทษชั้นดีจากทัณฑสถานเปิดทางเหมือนจันทบุรี แต่ยังไม่พร้อม” แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ทางจังหวัดได้เสนอทางออกให้เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อประมูลขายไม่ให้ราคาตกต่ำ และอยู่ในระหว่างทำข้อตกลงค้าขายร่วมกันระหว่างนครศรีธรรมราช-เมืองผิงเสียง

นายมณฑล ปริวัฒน์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เงื่อนไขผู้ประกอบการส่งออกที่กู้เงินได้ ต้องเป็นบริษัทผู้ส่งออกเท่านั้น ปัญหาคือผู้ประกอบการส่งออกส่วนใหญ่ใช้ชื่อบุคคลส่งออกถึง 80% และส่วนใหญ่เป็นโรงงานแพ็กกิ้ง ใช้บริษัทชิปปิ้งส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการจริง ๆ ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ตามเงื่อนไขของกระทรวงพาณิชย์ได้ และบริษัทที่ส่งออกผลไม้เฉพาะทุเรียน มังคุด มีไม่ถึง 15 บริษัท บางแห่งเป็นบริษัทใหญ่อาจจะไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทุนมากนัก ทางที่ดีอยากเสนอให้รัฐบาลคงโปรเจ็กต์นี้ไว้ และรับสมัครผู้ประกอบการส่งออกที่ดำเนินการยื่นจดทะเบียนบริษัทเพื่อให้เม็ดเงินกระจายไปได้กว้างขวาง และเป็นการกระตุ้นตลาดได้อย่างชัดเจน เรื่องนี้สมาคมจะมีการหารือแนวทางต่อไป

สำหรับประมาณการผลผลิตมังคุดภาคใต้ปีนี้ ประมาณ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 30% ตอนนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดไปแล้ว ประมาณ 30% ซึ่งรุ่นที่ 2 จะออกเดือนสิงหาคม 2562 จะมีปริมาณมากที่สุด ไม่ควรพึ่งแต่ตลาดจีน ดังนั้น ภาครัฐน่าจะสนับสนุนการเร่งเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น ซึ่งมีเงื่อนไขต้องผ่านกรรมวิธีอบไอน้ำกำจัดศัตรูพืช เป็นต้นทุนที่สูง และโรงงานที่อบไอน้ำในไทยมีเพียง 10 แห่ง อาจจะระดมนักลงทุนมาร่วมกัน หรือให้คำแนะนำการผลิตเพื่อส่งออกตามเงื่อนไขของประเทศนั้น รวมทั้งตลาดอินเดียที่น่าสนใจอย่างมาก