มกอช.หนุนเกษตรกร ยกระดับการผลิตสู่เทคนิคการทำตลาด DGT FARM

มกอช. ลุยสวนมังคุด หนุนเกษตรกรยกระดับการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน รองรับไต้หวันบินมาตรวจสวน เพิ่มโอกาสส่งออกมังคุดให้เร็วขึ้น พร้อมเดินสายอบรมเกษตรกร เรียนรู้เทคนิคการทำตลาด DGT FARM

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้พัฒนาเว็บไซต์ตลาดสินค้าเกษตร ออนไลน์ DGTFarm.com เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานผ่านการรับรองให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนการสร้างร้านค้า ลดระยะเวลา สามารถค้าขายได้ทุกที่ ทุกเวลา และเป็นช่องทางกระจายสินค้าเกษตรที่ดี มีคุณภาพได้มาตรฐานจากผู้ผลิต ส่งตรงถึง ผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้น มกอช. ได้จัด “โครงการอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขายสินค้าเกษตรบนตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ (DGTFarm.com) ตามแนวทางตลาดนำการผลิต” ณ โรงแรมปุระนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่ออบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ได้เรียนรู้ถึงการทำตลาด DGT FARM สอนเทคนิคการนำเสนอสินค้าที่ได้มาตรฐาน ทั้ง มาตรฐาน GAP สินค้าออร์แกนิค ในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เข้ามาชม และชอปสินค้าผ่านโชว์รูม DGT FARM โดยปี 2562 กำหนดจัดอบรมเกษตรกร 14 ครั้ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ

และในโอกาสนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลแปลงใหญ่ตำบลสวนขัน อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นกลุ่มเกษตรกรผลิตมังคุดคุณภาพครบวงจร ที่สำคัญกระบวนกการผลิตได้การรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำเกษตรที่เรียกว่าปลอดสารเคมี ซึ่งมีเป้าประสงค์เดียวกับ มกอช. ที่ต้องการให้เกษตรกรยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งกลุ่มฯ มีการปลูกพืชแบบผสมผสาน ได้แก่ มังคุด ทุเรียน เงาะ ซึ่งการทำเกษตรผสมผสานมีข้อดี คือ ลดปัญหาเรื่องโรค รวมถึงการทำเกษตร GAP หรือ อินทรีย์ เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรในการที่จะส่งออกได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันการส่งออกไปต่างประเทศ จะต้องได้การรับรองมาตรฐาน GAP และถ้าได้มาตรฐานออร์แกนิคด้วย ยิ่งสร้างโอกาสทางการตลาดมากขึ้น หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตได้เร็ว ก็มีโอกาสได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ มังคุด ถือเป็น Queen Of the Fruit ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยส่งออกมังคุดไปหลายประเทศแล้ว โดยล่าสุด หลังใช้ระยะเวลาในการเจรจาด้านสุขอนามัยพืชในการควบคุมโรคแมลงเป็นเวลานานพอสมควร วันนี้ทางไต้หวัน ยินยอมให้ประเทศไทยส่งออกมังคุดได้แล้ว ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงขบวนการทางเอกสารที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการ จากการที่ มกอช. พยายามผลักดันเพื่อที่จะให้มีตลาดการส่งออกมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ และมีโอกาสเพิ่มมูลค่าของสินค้ามากขึ้น