เกษตรกรหนองคายชี้ น้ำโขงขึ้น-ลงแปรปรวน ทำปลากระชังตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำโขงที่ จ.หนองคาย ขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จนล่าสุดทะลุ 4 เมตรแล้ว ระดับน้ำโขงที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำโขงที่ปรับตัวไม่ทัน ติดเชื้อและตายเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำปลาที่ตายไปตรวจสอบหาสาเหตุของการตาย

ล่าสุดระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 4.10 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 8.10 เมตร มีแนวโน้มทรงตัวและลดลง เนื่องจากระดับน้ำทางตอนเหนือทั้งที่เชียงแสนและเชียงของ จังหวัดเชียงราย และเชียงคาน จังหวัดเลย เริ่มลดลงแล้ว

จากระดับน้ำโขงที่แปรปรวน ลดลงต่ำสุดกว่าระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบ 50 ปี และขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปลากระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำโขงตายเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ ช่วงที่ตายมากที่สุดคือช่วงที่ระดับน้ำโขงต่ำสุดแล้วมีระดับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุของการตายคาดเกิดจากปลาปรับตัวไม่ทันและมีการติดเชื้อ ซึ่งลักษณะการตายจะไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นเหมือนที่ผ่านมา ขณะนี้สำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย ได้นำปลาที่ตายส่งไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุแล้ว

นายยศ ทบอาจ เกษตรกรชาวบ้านพร้าวใต้ ต.หินโงม อ.เมือง จ.หนองคาย ตนเลี้ยงปลากระชังทั้งหมด 8 กระชัง แต่ละวันปลาที่เลี้ยงตายมากว่า 50 ตัว รวมน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ปกติแต่ละกระชังจะเลี้ยงปลา 2,000 – 2,500 ตัว ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมากครั้งนี้ แต่ที่สังเกตการณ์ขึ้นลงของน้ำโขงมีผลกับการตายของปลาที่เลี้ยงเป็นอย่างมาก หากน้ำโขงแดงขุ่นและขึ้นเร็วปลาก็จะตายมากขึ้น จากการที่ปลาตายเป็นจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงขาดทุนอย่างแน่นอน ส่วนปลาที่ตายก็จะนำไปทำปลาร้าขาย ในราคากิโลกรัมละ 20 – 22 บาท

ทางด้าน นายชาติชาย จิตมาน อายุ 57 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังที่บ้านพร้าวใต้ บอกว่า ปลาที่เลี้ยงตายเป็นจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งปลาเริ่มตายตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมาที่ระดับน้ำโขงเริ่มลดลงมาก ๆ แต่ตอนนี้ระดับน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นแล้วปลาที่เลี้ยงก็ยังตายไม่ต่ำกว่า 2 ตัน (2 พันกิโลกรัม) ทั้งนี้ สำนักงานประมงก็ได้นำปลาที่ตายส่งไปตรวจหาสาเหตุการตายแล้ว แต่ตนคิดว่า หากปลาได้ตายแล้ว ก็จะตายต่อเนื่องไปอีก ลักษณะจะจมไปตายใต้กระชัง ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นเหมือนปกติที่ผ่านมา จะเห็นอีกครั้งก็ลอยเกลื่อนในกระชังแล้ว เฉลี่ยตายวันละ 150 กิโลกรัมขึ้นไป

ด้านการแก้ไขก็จะลดอาหารลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยให้ สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง ตอนนี้ปลาที่เลี้ยงจับไปบางส่วนเหลือรอจับอยู่ 5 กระชัง แต่ละวันก็ยังตายเกือบ 100 กิโลกรัม ซึ่งปลาที่ตายจะเป็นปลาขนาดใหญ่พร้อมจับ ตัวละไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม ยิ่งอายุการเลี้ยงมาก น้ำหนักมาก ยิ่งตายมาก ผ่าดูพบว่า มีลักษณะท้องบวม อวัยวะภายในเน่าเปื่อย