ภาคตะวันออกเสี่ยงสูง ASF ปิด 2 ด่านเบรกส่งออกหมูไปเขมร

ขณะที่โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF ได้แพร่ระบาดในประเทศเพื่อนบ้านห่างไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ส่งผลให้ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศไทยตื่นตัวรับมือ ล่าสุดผู้เลี้ยงสุกรในเขต 2 ภาคตะวันออก 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และสระแก้ว ได้มีการจัดประชุมสัมมนา เรื่อง “แนวทางและมาตรการในการป้องกันโรค ASF” ขึ้นที่ จ.ชลบุรี เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายภมร ภุมรินทร์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี เปิดเผยว่า ภาคตะวันออกมีการตื่นตัวกันมาก โดยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ได้จัดให้มีการประชุมวาระพิเศษขึ้นเนื่องจากภาคตะวันออกถูกเพ่งเล็ง เพราะมีการส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาผ่าน 3 ด่าน ได้แก่ ตาพญา เขาดิน และหนองปรือ เพื่อป้องกัน ASF จะมีการปิดด่านส่งออกเหลือเพียงจุดเดียว คือ เขาดิน นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมาตรการป้องกัน โดยการสร้างจุด-รับส่งหมู มูลค่า 800,000 บาท ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว และมีนโยบายชะลอการส่งออกประมาณ 1 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ การระบาด พร้อมมีมติจัดตั้งกองทุนชดเชยและป้องกัน ASF โดยเก็บเงินจากผู้เลี้ยงที่มีแม่พันธุ์ 20 บาท/ตัว สุกรขุน 4 บาท/ตัว ซึ่งมีบริษัท พนัสโภคภัณฑ์ จำกัดนำร่องก่อน 700,000 บาท

สำหรับจำนวนผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดชลบุรี มีประมาณ 200 ราย ส่วนจำนวนแม่พันธุ์และลูกขุน ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ เนื่องจากผู้เลี้ยงสุกรได้ลดปริมาณในการเลี้ยง ทั้งนี้ชลบุรีถือได้เป็นพื้นที่เขตสีแดง เพราะชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกสุกรได้ ส่วนวิธีการรับมือ คือ การวัดระดับความปลอดภัยของฟาร์ม และทางกรมปศุสัตว์ได้มีการลงพื้นที่ให้ความรู้ในการป้องกัน ส่วนเรื่องของการระดมทุน คาดว่าจะได้เงินประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ใน 2 ส่วน คือจัดกิจกรรมเพื่อป้องกัน ASF และจะสนับสนุนผู้เลี้ยงรายย่อยให้มีการกำจัดและทำลายสุกรอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อป้องกัน ASF จะมีลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ที่มีการเลี้ยงสุกรด้วยเศษอาหาร และจะมีการตั้งจุดตรวจ จุดล้างรถ และจุดเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ บนถนนเส้นทางสายหลัก ซึ่งได้มีการเสนอจุดพ่นยา ที่แยกหนองเสม็ด สามแยกโรงน้ำแข็ง อ.พนัสนิคม ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ จังหวัดชลบุรี ได้มีการตั้งด่านพ่นยาฆ่าเชื้อ ตรงจุดเลี้ยงหมูน้ำ บริเวณ อ.บางละมุง อ.สัตหีบ และ อ.ศรีราชา ทั้งนี้จะมีการซักซ้อมแผนป้องกันและการจัดการเมื่อเกิดโรค เพื่อศึกษาและวางแผนการเผชิญเหตุการณ์หลังจากสุกรติดเชื้อ เช่น การฝังกลบ การสร้างโรงเชือดที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งสุกรที่มีความเสี่ยงหลังเกิดโรค เพื่อจัดการทำสุกรส่งขายสู่ผู้บริโภค รวมถึงการจัดแบ่งกลุ่มและโซนผู้เลี้ยง ตามพื้นที่การเลี้ยง เพื่อเข้าไปทำความเข้าใจและสอนวิธีการป้องกันโรคให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้มีประกาศเตือน 18 จังหวัดเป็นเขตระวัง โดยจะมีการจัดอบรมเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้รู้จักวิธีการป้องกันโรคระบาดเกิดขึ้นเฉพาะเคสแรก รัฐบาลจะมีการชดเชย 75% ของราคาตลาดสุกร และต้องมีการแจ้งภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อที่จะดำเนินการให้คณะกรรมการประเมินสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้ทันที ในส่วนของภาคเอกชน จะมีเงินจากกองทุนชดเชย 25%

สิ่งที่น่ากังวล หากมีการประกาศพบการแพร่ระบาด ASF ในประเทศไทย ผลกระทบแรกคือราคา จะเห็นได้จากภาพรวมของการเลี้ยงหมูในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2562 ที่มีการเทขายออกมาจำนวนมาก เนื่องจากไม่อยากเสี่ยง และอาจจะไม่สามารถจำหน่ายหมูได้ เพราะประชาชนจะไม่บริโภคเนื้อหมู จำนวนเงินในส่วนของการระดมทุนครั้งนี้ จะนำมาป้องกันในการจัดการโรค ASF โดยสมาคมได้มีการพยายามสกัดกั้นเพื่อไม่ให้โรคสามารถเข้ามาแพร่กระจายในไทย แต่ทั้งนี้ปัญหาจากการเกิดโรค ASF ที่ไม่สามารถจัดการปัญหา เกิดจากคน 4 ประเภท คือ 1.คนเห็นแก่ได้ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้น 2.คนไม่รู้ หรือไม่มีโอกาสรับรู้ โดยรัฐบาลต้องไปให้ข้อมูลความรู้กับกลุ่มนี้ 3.คนที่ไม่มีความรับผิดชอบ 4.ไม่มีจำนวนคนที่มากพอ

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ทางจังหวัดฉะเชิงเทราจะมีการร่วมระดมทุน เพื่อป้องกัน ASF จึงอยากให้สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรทุกคน เล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกัน เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นเขตที่มีการเคลื่อนย้ายสุกรเป็นจำนวนมาก ทั้งการส่งออกและนำเข้าจากทางฝั่งประเทศกัมพูชา เพราะฉะนั้นสมาชิกผู้เลี้ยงสุกรทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ภาคตะวันออกเป็นเขตปลอดเชื้อ ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของ ASF ต่อไป

นายนุกูล ปิยะศิริสิงห์ นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า จ.ระยองมีแม่พันธุ์สุกรประมาณ 20,000 แม่ ที่เหลือเป็นฟาร์มของบริษัทใหญ่ และลูกเล้าของบริษัทใหญ่ ตอนนี้ในพื้นที่มีการตื่นตระหนกและให้ความสำคัญเนื่องจาก ASF มาประชิดติดชายแดนฝั่งกัมพูชา สำหรับการระดมทุนถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกัน ซึ่งถ้ามองในตัวเม็ดเงินอาจจะไม่มากพอ สิ่งที่สำคัญคือเกษตรกรผู้เลี้ยงต้องมีการเฝ้าระวังและช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า จำนวนแม่พันธุ์สุกรขุน และเกษตรกรปี 2562 ในพื้นที่ภาคตะวันออก เขต 2 จำนวน 9 จังหวัด มีการเลี้ยงแม่พันธุ์จำนวนทั้งหมด 158,744 ตัว ได้แก่ 1.จังหวัดปราจีนบุรี 54,482 ตัว 2.จังหวัดชลบุรี 39,925 ตัว 3.จังหวัดฉะเชิงเทรา 25,074 ตัว 4.จังหวัดนครนายก 16,433 ตัว 5.จังหวัดระยอง 11,821 ตัว 6.จังหวัดจันทบุรี 8,748 ตัว 7.จังหวัดสระแก้ว 1,825 ตัว 8.จังหวัดตราด 431 ตัว 9.จังหวัดสมุทรปราการ 5 ตัว

ส่วนขุนสุกร มีจำนวนทั้งหมด 1,270,907 ตัว มีรายละเอียดดังนี้ 1.จังหวัดชลบุรี 356,963 ตัว 2.จังหวัดฉะเชิงเทรา 222,594 ตัว 3.จังหวัดปราจีนบุรี 207,503 ตัว 4.จังหวัดระยอง 183,265 ตัว 5.จังหวัดนครนายก 144,341 ตัว 6.จังหวัดตราด 80,321 ตัว 7.จังหวัดจันทบุรี 58,505 ตัว 8.จังหวัดสระแก้ว 17,185 ตัว 9.จังหวัดสมุทรปราการ 230 ตัว

ด้านเกษตรกร มีจำนวนทั้งหมด 2,816 ราย ได้แก่ 1.จังหวัดสระแก้ว 1,105 ราย 2.จังหวัดปราจีนบุรี 408 ราย 3.จังหวัดฉะเชิงเทรา 396 ราย 4.จังหวัดจันทบุรี 276 ราย 5.จังหวัดชลบุรี 226 ราย 6.จังหวัดนครนายก 172 ราย 7.จังหวัดระยอง 150 ราย 8.จังหวัดตราด 79 ราย 9.จังหวัดสมุทรปราการ 4 ราย