จ่ายเงินท่องเที่ยวชายแดนใต้ลดภาษีได้ 2 เท่า หอการค้าชายแดนใต้ชงรัฐบาล เก็บภาษีต่ำ

กระตุ้น เศรษฐกิจ - หอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ไดมี้การประชุมเตรียมนำเสนอแผนในการกระตนุ้ เศรษฐกิจในพื้นที่ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางลงในพื้นที่วันที่ 7 สิงหาคม 2562 นี้

3 หอการค้าจังหวัดชายแดนใต้ “ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส” เตรียมชง “นายกฯตู่” ลงพื้นที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เสนอขอให้พิจารณาจัดเก็บภาษีเงินได้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าจังหวัดอื่น-เที่ยวเมืองรอง 3 จังหวัดชายแดนใต้สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า พร้อมดันประสานรัฐบาลมาเลเซียวางระบบรางรถไฟเชื่อมจาก “กัวลาลัมเปอร์-สุไหงโก-ลก-ยะลา-ปัตตานี โลจิสติกส์หนุนเครือข่ายโลจิสติกส์ไทย-มาเลย์ ด้านนราธิวาสดันปัดฝุ่นเร่งรัด 8 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน ทั้งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนราธิวาส-โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2-ขยายด่านบูเก๊ะตา-จัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า-สร้างแลนด์มาร์กบนที่ 25 ไร่ของการเคหะฯ-จัดตั้งดิวตี้ฟรี ผลักดันศูนย์กลางการขนส่งสินค้าเกษตร

นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางลงมาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ทางหอการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมนำเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เดินไปได้อย่างแท้จริง และมีประสิทธิภาพ ใน 3 ประเด็นหลัก

“ยะลา” ชงลดภาษีเงินได้

โดยเฉพาะ 1.เรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปัจจุบันใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยขอให้พิจารณาการจัดเก็บภาษี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีสถานะไม่ปกติ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ และนโยบายรัฐบาล รวมถึงมาตรการหักลดหย่อนภาษีกรณีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองชายแดนภาคใต้ ควรจะต้องให้ลดภาษีได้เป็น 2 เท่า เพื่อกระตุ้นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามามากขึ้น เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีภาวะไม่ค่อยดีนัก

2.ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1.5 เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารมีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงให้รัฐบาลลดความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำค้างท่ออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท

3.เรื่องรถไฟรางคู่ ที่ทาง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้ดำเนินการปรับปรุงเปิดเพื่อเส้นทางรถไฟเก่าระหว่างรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กับ อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2563 จึงให้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึง จ.ยะลา เพราะมีเส้นทางรถไฟวิ่งเข้าสู่ตัวเมืองยะลาอยู่ก่อนแล้ว และในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ขยายตัวเติบโตมากในอดีต และโครงการรถไฟรางคู่จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนไทยจำนวนมากที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียอยู่เป็นประจำ จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก จะทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น

นราธิวาสจี้ทำรถไฟเชื่อมมาเลย์

นายกิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ทางหอการค้าจังหวัดนราธิวาสได้ประชุมกันและเตรียมเสนอประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้ พล.อ.ประยุทธ์ 8 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลไทยไปเจรจากับรัฐบาลมาเลเซียในการขยายเส้นทางเดินรถไฟจากเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มายัง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี จากเดิมทางประเทศมาเลเซียมีการเดินรถไฟจากปาเสมัส รัฐกลันตัน มาสิ้นสุดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายปาเสมัส-สุไหงโก-ลกได้หยุดเดินไปหลายปีแล้ว เนื่องจากเส้นทางชำรุดและปริมาณผู้โดยสารน้อย ทำให้การรถไฟมาเลเซียเห็นว่าไม่คุ้มค่าในการเดินทาง ดังนั้นจึงเสนอให้มีการเชื่อมเส้นทางไปถึงเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ จะได้มีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น และไทยจะได้ประโยชน์ในด้านโลจิสติกส์

2.การผลักดันโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 เห็นชอบกำหนดพื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 มีมติเห็นชอบมอบหมาย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อที่ดินเอกชน จังหวัดนราธิวาส 2,277 ไร่ ใน ต.ละหาร อ.ยี่งอ และ ต.โคกเคียน อ.เมืองนราธิวาสนั้น ถึงวันนี้มีปัญหาเรื่องการจัดซื้อที่ดิน และเรื่องเงียบไปไม่มีความก้าวหน้า

3.การขยายลานวางสินค้า ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส อยู่ตรงข้ามกับด่านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย 4.ผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 บริเวณด่านชายแดนสุไหงโก-ลก เนื่องจากสะพานที่มีอยู่ค่อนข้างมีความแออัดของสินค้า ทั้งนี้ การก่อสร้างจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-มาเลเซีย ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องไปเจรจาให้มีความก้าวหน้าต่อไป โดยที่ผ่านมา มาเลเซียได้ออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไปนานกว่า 10 ปีแล้ว 5.โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก อยากให้มีการผลักดันโครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าของกรมการขนส่งทางบก บนพื้นที่ 70 ไร่ ให้แล้วเสร็จ 6.การขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่ 25 ไร่ของการเคหะแห่งชาติ บริเวณเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก นำมาปรับสภาพเพื่อสร้างแลนด์มาร์ก ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องราคาที่ดินกับการเคหะฯ

7.การจัดโครงการจัดตั้งดิวตี้ฟรี ซึ่งจะมีแนวทางจูงใจให้คนไทยเที่ยวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ก่อสร้างอาคารสำหรับโครงการดังกล่าวมูลค่า 30 ล้านบาท บริเวณด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกผู้จัดทำโครงการอยู่ระหว่างการตกลงกับกรมธนารักษ์ ในการคิดอัตราค่าเช่า อยากให้เปิดได้ตามแผนภายในปี 2563 และ 8.ผลักดันให้มีการจัดตั้งตลาด หรือศูนย์กลางการขนส่งสินค้าเกษตร

ดันอัดงบฯโครงสร้างพื้นฐาน

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้เตรียมจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินทางลงมาจังหวัดชายแดนใต้ เน้นนำเสนอโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เคยนำเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่ได้งบประมาณในการดำเนินการ

“ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ลงมาเตรียมการทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีลงมา อยากให้ภาคเอกชนในพื้นที่นำเสนอแต่โครงการใหม่ ๆ โครงการเก่าไม่เอา ก็ในเมื่อโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่นำเสนอยังไม่ได้ดำเนินการ แล้วจะขับเคลื่อนให้เกิดโครงการใหม่เดินหน้าได้อย่างไร” นายวัฒนากล่าว

 

ปัตตานีเล็งยืดเวลาแรงงานต่างด้าว ม.83

นายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.จังหวัดปัตตานีได้หารือถึงข้อเสนอที่จะให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา 1.เรื่องขอขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานประมงต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งจะหมดอายุเดือนกันยายน 2562 ออกไป 2.ลดระยะเวลาการออกเอกสารให้แรงงานที่ทำ MOU ให้เร็วขึ้น จากปัจจุบันใช้เวลานานถึง 2 เดือน

3.การที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ควรรับฟังความเห็นของมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ 4.การหาทางออกในการบรรเทาปัญหาประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU ด้วยการส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่ หรือหาอาชีพทางเลือก เช่น การเพาะเลี้ยงปูดำ หรือทำธนาคารปู

5.ผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า และทำโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกและตะวันออก รวมถึงการส่งเสริมให้ปัตตานีเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น