8 จังหวัดเหนือ-อีสานช้ำ วิกฤตแม่น้ำโขงรอบ 50 ปี ร้องนานาชาติทบทวนสร้างเขื่อน

ภาพวิกฤตของ “แม่น้ำโขง” ที่เหือดแห้งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ถือเป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากแม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงประชาชนในหลายประเทศ และ 8 จังหวัดของไทย (เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “การจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดน : แม่น้ำนานาชาติ” ขึ้น

เชียงรายช้ำระบบนิเวศพัง

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ จากองค์การแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงถึง 11 แห่ง และกำลังจะก่อสร้างอีก 28 โครงการ เขื่อนที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือ เขื่อนจิ่งหง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ห่างจาก อ.เชียงแสน ประมาณ 340 กิโลเมตร โดยเขื่อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีหลายองค์กรจากหลายประเทศเข้าไปสร้าง เช่น ไชยะบุรี สปป.ลาว ที่ประเทศไทยมีบทบาทก่อสร้างปัจจุบันเขื่อนที่ใกล้ไทยกำลังมีโครงการก่อสร้างอีก 2-3 แห่ง เช่น เขื่อนกาหลันป้าและเม็งชอง ที่อยู่ใต้เขื่อนจิ่งหงลงมา และเขื่อนปากแบงที่อยู่ถัดจาก จ.เชียงราย ลงไปเล็กน้อย

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงนั้นชัดเจนตั้งแต่ปี 2539 เมื่อจีนก่อสร้างเขื่อนมานวาน (Manwan) เสร็จ พบว่า ไม่ได้มีการแจ้งข่าวสารให้ประชาชนใต้น้ำทราบ จนผ่านมาร่วม 20 ปี สิ่งที่ปรากฏชัดคือ ระดับน้ำขึ้นและลงไม่เป็นธรรมชาติ ระบบนิเวศถูกทำลาย เห็นได้จากงานวิจัยที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2548 พบว่า พันธุ์ปลาลดลงอย่างมาก จากเดิมชาวบ้านเคยจับปลาที่ปากแม่น้ำอิง อ.เชียงของ เฉลี่ยวันละ 3-4 กิโลกรัม/คน แต่ปัจจุบันมีปลาเหลือให้จับน้อยมาก นอกจากนี้ สาหร่ายไก่ ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดที่เกิดขึ้นเองในแม่น้ำโขงเหลือน้อยลง ปกติชาวบ้านจะเก็บในเดือน ม.ค.-มี.ค.ของทุกปี สร้างรายได้ให้ครัวเรือนละ 100,000-150,000 บาท จากการขายส่าหร่ายไก่แห้ง 1,000-1,500 บาท/กก. ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนไม่ได้รับการชดเชย มาถึงปี 2553 เมื่อเขื่อนเซี่ยวหวาน (Xiaowan) ของจีนกักเก็บน้ำปรากฏว่า ระดับน้ำก็ไม่เป็นธรรมชาติและเกิดปรากฏการณ์แห้งแล้งหนักในปี 2556

ปลาในแม่น้ำโขง 70% เป็นปลาอพยพทางไกลตั้งแต่ทะเลสาปของกัมพูชามาถึงสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อน้ำแห้งปลาอพยพไป-กลับไม่ได้ก็ตาย ดังนั้น โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงควรได้รับการทบทวน เพราะองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่ไม่ได้มีบทบาทในการดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่

เดิมเข้าใจกันว่าน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลจากประเทศจีนมีเพียงแค่ 13-18% ของปริมาณน้ำที่ไหลสู่ประเทศไทยทั้งหมด แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันมีข้อมูลของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่า น้ำจากเขื่อนในประเทศจีนมีปริมาณมากถึง 95% ซึ่งน่าหวาดหวั่นมาก และพบว่า ปัจจุบันโครงการสร้างเขื่อนเก่า ๆ ที่เคยถูกตีตกไป เพราะมีข้อขัดข้องต่าง ๆ กำลังถูกนำมาปัดฝุ่นเพื่อสร้างใหม่ถัดจากเขื่อนไชยะบุรีใน สปป.ลาว ที่สร้างเสร็จเมื่อต้นปี 2562 โดยมีเอกชนไทยก่อสร้างและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ของไทยทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าเป็นเวลานาน 29 ปี

จี้นานาชาติทบทวนสร้างเขื่อน

ดร.ศศิพัชร์ เมฆรา จากสำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบัน MRC มีบทบาทสำคัญ แต่มีกรรมการมาจากรัฐบาล 4 ประเทศเท่านั้น คือ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แต่จีนไม่ได้เป็นกรรมการ ลักษณะของ MRC จึงเหมือนเสือกระดาษ

ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ จากสำนักวิชาการจัดการ มฟล.กล่าวว่า ปัจจุบันได้นำรายงานข้อมูลทางวิชาการจากภาคเอกชนของจีนมาวิเคราะห์ พบว่า เขื่อนทำให้เกิดการเก็บตะกอนดินไว้ถึง 50% ซึ่งตะกอนดินถือเป็นแร่ธาตุสำคัญ จึงทำให้การเกษตรท้ายน้ำได้ผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ เขื่อนทำให้ระดับน้ำในฤดูกาลต่าง ๆ มีความแตกต่างกันน้อยลง จึงเป็นโจทย์ให้ต้องวิเคราะห์ถึงผลดีและผลเสียของเขื่อน

“ที่ผ่านมา ผลการศึกษาการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงมักระบุว่า มีผลกระทบน้อย เพราะเพิ่งมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นครั้งแรก คำถามคือการสร้างเขื่อนนั้นดีจริงหรือไม่ เมื่อได้กระแสไฟฟ้าหรืออื่น ๆ แล้วต้องสูญเสียระบบนิเวศไป โดยเฉพาะทำให้ภาคการเกษตรเปลี่ยนไป เช่น ทะเลสาปกัมพูชาที่เป็นป่าชุ่มน้ำที่มีพันธุ์ปลามาก และติดอันดับ 2-3 ในโลกจากการเป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพรองจากป่าอเมซอนที่มีพันธุ์ปลากว่า 1,000 ชนิดกำลังเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

ขณะที่ประเทศต้นแบบอย่างสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นตำรับในการสร้างเขื่อนเองกลับมีกระแสการรื้อเขื่อนทิ้ง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตประชาชนให้มีทางเลือกในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น หากมีการใช้แผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองสามารถนำรายจ่ายไปหักลบภาษีได้ เป็นต้น”

เร่งบริหารน้ำฝนก่อนไหลลงโขง

ด้าน นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำ 700,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และไทยมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ที่ใช้เพื่อการเกษตร แต่กว่า 30% ของปริมาณดังกล่าวถูกปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล โดยมีพื้นที่นอกเขตชลประทานมากถึง 80% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด หรือแม้แต่ 20% ในเขตชลประทานยังพบปัญหาภัยแล้ง กรณี จ.เชียงราย ปล่อยน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงถึง 18% จึงขอให้มีการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ

ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำแล้วมีบ่อแม่ก่อนกระจายไปยังพื้นที่ทางการเกษตรต่อไป จากนั้นจึงดูเรื่องความต้องการใช้น้ำและการระบายน้ำออกไปไม่ให้เสียเปล่า โดยดูตัวอย่างประเทศอิสราเอลที่มีน้ำน้อยกว่าไทยมาก แต่บริหารจัดการได้ดี ส่วนกรณีเรื่องที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศนั้น ยังไม่เห็นองค์กรที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วมกันอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก