แล้งทำ “ลำไย” เชียงรายเสียหายหนักผลผลิตไม่พอขาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีนี้ผลผลิตพืชผลทางการเกษตรในช่วงฤดูฝนช่วงนี้ออกสู่ตลาดน้อย โดยเฉพาะลำไย เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีฝนตกน้อยตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา และเพิ่งจะมีฝนตกลงมามากในช่วงปลายเดือน ก.ค. ล่าสุดพบว่าเกษตรกรเริ่มนำผลผลิตไปจัดแสดงตามงานกิจกรรมต่าง ๆ หรือวางจำหน่ายบ้างแล้ว แต่ยังพบเห็นได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา และบางส่วนเน้นนำไปแปรรูปเป็นลำไยอบกรอบ ลำไยแห้ง ลำไยสีทอง ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่า

นางวนิดา ทิพย์ศักดิ์ พาณิชย์ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า สถานการณ์ลำไยปีการผลิต 2562 ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ค. 2562 พบว่ามีผลผลิตในพื้นที่รวมประมาณ 137,221 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิต 436 กก./ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิตในฤดูรวม 57,917 ตัน และผลผลิตนอกฤดูรวม 1,955 ตัน สำหรับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต 3 เดือนคือ ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย. 2562 คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดช่วง 3 เดือนคือ ร้อยละ 5 ร้อยละ 80 และร้อยละ 15 ตามลำดับ ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตลดลงเนื่องจากภาวะฝนแล้งขาดน้ำ และทำให้ผลลำไยมีขนาดเล็กหรือร่วงหล่น และภายหลังเมื่อโดนฝนทำให้ผลลำไยแตกด้วย

ขณะเดียวกันช่วงต้นฤดูคาดว่าผู้ประกอบการจะเปิดจุดรับซื้อมากขึ้น ซึ่งในระดับราคาที่เกษตรกรขายเป็นลำไยสดช่อขนาด AA และ +A กิโลกรัมละ 25-28 บาท ขนาด A และ B+ กิโลกรัมละ 20-23 บาท และประเภทลำไยสดช่อซึ่งนิยมส่งไปยังตลาดประเทศจีน คาดว่าลำไยขนาด AA และ A+ กิโลกรัมละ 35 บาท และราคาลำไยสดร่วงขนาด AA กิโลกรัมละ 27-31 บาท ขนาด A กิโลกรัมละ 18-22 บาท ขนาด B กิโลกรัมละ 8-12 บาท และขนาด C กิโลกรัมละ 1-1.5 บาท

ด้านนายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานบิสคลับ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในประเทศไทย มีความพยายามที่จะนำผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากมาแปรรูป แล้วจัดทำเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาดีกว่าการขายสด แต่ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์แล้วกลับไม่มีตลาดรองรับ หรือผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีรูปแบบไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น ทางเครือข่ายบิสคลับจึงได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนา ซึ่งกรณีของลำไยเช่นกัน ปีนี้ผลผลิตน้อยควรคัดเกรดเพื่อนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ได้ตามที่ตลาดต้องการ ทั้งนี้ ลำไยถือเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมมาก

ล่าสุดบิสคลับได้จัดคัดสรรผลผลิตจากผู้ประกอบการแล้วนำไปจัดแสดงภายในงานต่าง ๆ โดยขั้นตอนการคัดสรรก็มีผู้ชำนาญการเรื่องตลาดจีน รสนิยมของชาวจีน มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ไปชิมดูด้วย จากนั้นนำไปจัดแสดงหรือจำหน่ายภายในงานกิจกรรมที่มีเอกชนจีนเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ การพยายามคัดเลือกหรือเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีน