ผู้ว่าฯ ขอนแก่นรุกพัฒนาผังเมือง เร่งตีกรอบ 6 อำเภอมุ่งสู่สมาร์ทซิตี้

จากข้อมูลของ depa จังหวัดขอนแก่นได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) นำร่อง 1 ใน 7 ของประเทศไทยจากรัฐบาล ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะระดับจังหวัดของจังหวัดขอนแก่น จัดทำแผนนำกรอบการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ในระดับสากล อันประกอบด้วย smart mobility, smart living, smart citizen, smart economy, smart environment, smart governance มาพิจารณากลั่นกรอง จนกระทั่งได้ความต้องการในพื้นที่ (area-based needs) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นผลและรูปธรรม

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กว่าจังหวัดขอนแก่นจะกลายเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ได้ต้องพิจารณาหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ ทั้งความเจริญ ความพร้อมของผู้คน ศักยภาพหลายด้านที่เข้ามาเติมเต็ม ซึ่งการใช้ big data คือสิ่งสำคัญ โดยระบบข้อมูลของจังหวัดจะถูกนำมาพัฒนาด้วยการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ภาพรวมทั้งหมด ซึ่งต้องนำมาออกแบบแผนงานและการทำงาน เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพของประชากร ข้อมูลด้านอาชีพ เป็นข้อมูลที่ใช้ในการฉายภาพรวมทั้งหมด 2.การวิเคราะห์ข้อมูลแบบย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์อนาคตในอีก 20 ปี โดยแยกแยะกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็นภาคการเกษตร และนอกภาคการเกษตร ที่ประกอบไปด้วย พาณิชยกรรม การบริการ การศึกษา และอุตสาหกรรม 3.ข้อมูลพิเศษที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง

“สิ่งที่เห็นจากข้อมูลมีตัวเลขบ่งบอกว่า จังหวัดขอนแก่นมีรายได้จากภาคการเกษตร คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ไม่เกิน 11% และจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการเกษตรให้เพิ่มขึ้น ทั้งด้านทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้สอดรับกับแนวคิดในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ”

ทั้งนี้ จุดแข็งของจังหวัดขอนแก่นที่จะสามารถดึง big data เข้ามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ รัฐบาลได้วางโครงสร้างระบบโลจิสติกส์ไว้รอบทิศ ไม่ว่าจะเป็นระบบราง มอเตอร์เวย์ สนามบินที่กำลังขยายตัวพร้อมรองรับผู้คน รวมถึงการมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการมีบุคลากรร่วมกว่า 8 หมื่นคนที่มีกำลังซื้อ แต่ระบบทุกอย่างต้องได้รับการดูแล เพื่อกระจายความเจริญให้ออกไปนอกเขตเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยในปี 2562 จังหวัดขอนแก่นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พร้อมงบประมาณ 25 ล้านบาท จากงบประมาณยุทธศาสตร์จังหวัด 360 กว่าล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 7-8% เพื่อมาพัฒนาเรื่องสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดโดยเฉพาะ

นายสมศักดิ์บอกว่า การพัฒนาจังหวัดในปีงบประมาณ 2563 จะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองใหม่ กับเมืองเดิม เพื่อจะประกาศให้เป็นสมาร์ทซิตี้เพิ่มเติม หากสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้การสนับสนุน ซึ่งมีการวางแผนพิจารณา 6 อำเภอ ได้แก่ 1.อำเภอน้ำพอง 2.อำเภอบ้านไผ่ 3.อำเภอชนบท 4.อำเภอชุมแพ 5.อำเภอภูเวียง 6.อำเภอเวียงเก่า

“3 อำเภอแรก คือ อำเภอบ้านไผ่ อำเภอชุมแพ อำเภอน้ำพอง จะเป็นหัวเมืองใหญ่บริวารของจังหวัดขอนแก่น รองรับและเป็นหน่วยที่ให้บริการด้านต่าง ๆ เช่น อำเภอบ้านไผ่ จะมีทั้งโครงการขนส่งระบบรางหลายสายมาตัดกัน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล และการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน

ขณะที่อำเภอน้ำพอง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีแผนจะพัฒนาท่าเรือบก (dry port) ภายในปี 2565-2568 เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เราต้องเตรียมการพัฒนาผังเมืองว่าต้องตีกรอบอย่างไร ทั้งถนน โรงพยาบาล เป็นต้น และอำเภอชุมแพที่อยู่ทางทิศตะวันตกที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน (telemedicine) ส่วนอีก 3 เมืองจะโดดเด่นทางด้านหัตถกรรมผ้าไหม และฟอสซิลไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ที่เราพยายามยกให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาในระดับประเทศในปี 2562 นี้ให้ได้”