“กมลพงศ์ สงวนตระกูล” ประธานหอการค้าฯ ลุยดีลบิ๊กธุรกิจทำ TOD ขอนแก่น

สัมภาษณ์

ในชั่วโมงนี้ จังหวัดขอนแก่นถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ถูกจับตามอง หลากหลายธุรกิจต่างพุ่งเป้าเข้าไปลงทุน ด้วยศักยภาพและการพัฒนาความพร้อมรอบด้านผ่านกลไกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นทิศทางจังหวัดที่ตั้งเป้าไว้ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ การพัฒนาระบบขนส่งทางราง ทั้งจากโครงการขนส่งสาธารณะ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาท่าเรือบก การขยายท่าอากาศยาน มอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ ที่ภาครัฐทุ่มสรรพกำลังและงบประมาณลงไป ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนในพื้นที่ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางของจังหวัดอย่างฉับไว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “กมลพงศ์ สงวนตระกูล” ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น มาฉายภาพทิศทาง โอกาส และการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น อย่างน่าสนใจ

กมลพงศ์กล่าวว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกอยู่ในลักษณะชะลอตัว เพราะมีเรื่องราวหลายอย่างเกิดขึ้น ส่วนในประเทศไทยมีปัจจัยทางการเมือง ทำให้การลงทุนดูนิ่ง แต่ในจังหวัดขอนแก่น ภาคเอกชนมีการพูดคุยกันว่าขณะนี้เป็นช่วงของการเตรียมตัว เพราะมีโอกาสได้กลับมาดูข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด และการปรับตัวต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ ทั้งการปรับหลังบ้าน และการเตรียมตัวรับมือ digital transformation พร้อม ๆ กันนั้นเป็นการเตรียมตัวพัฒนาและดำเนินการในส่วนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดด้านการขนส่งทางราง เช่น โครงการรถไฟรางเบาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ที่คาดว่าจะสามารถต่อยอดไปสู่ขั้นตอนในการผลิตและใช้เองได้ภายในประเทศ

เตรียมดีลบริษัทใหญ่ทำ TOD

กมลพงศ์อธิบายว่า ตามหลักการแล้วระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถอยู่ได้ด้วยกำไรของตัวเองเพียงอย่างเดียว โครงการไฮไลต์ของขอนแก่นอย่างรถไฟรางเบาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน ภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นจึงต้องคิดค้นวิธีการพัฒนารูปแบบเข้ามาช่วยพยุงโครงการดังกล่าว ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาแล้ว แต่เอกชนในระดับท้องถิ่นยังไม่มีสเกลการลงทุนที่ใหญ่พอ

ทางภาคเอกชนในจังหวัดขอนแก่นจึงได้ไปพูดคุยกับบริษัทส่วนกลางหลายบริษัท เช่น กลุ่มมิตรผลที่กำลังมองหาจุดที่จะจัดทำศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในการกำกับการดำเนินงานในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มบริษัทสื่อสาร ทั้ง TRUE, AIS และ DTAC เองมีแผนจะขยายระบบคอลเซ็นเตอร์มาสู่ท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลายบริษัทเตรียมขยายฐาน หลังจากช่วงการเกิดอุทกภัยในปี 2554 แต่ไม่มีศูนย์ดำเนินงานสำรองในภูมิภาค โดยโครงการดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้

ศูนย์กลางเชื่อมภูมิภาค

กมลพงศ์เล่าต่อว่า ขอนแก่นมีทำเลยุทธศาสตร์ที่ดี เพราะอยู่ใจกลางของภูมิภาค รวมไปถึงที่ผ่านมา รัฐบาลมีการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่ การขยายท่าอากาศยาน ไปจนถึงท่าเรือบก พร้อม ๆ กับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของระบบรางในกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ อีกทั้งขอนแก่นยังได้สิทธิลดหย่อนภาษี (BOI) หากมาลงทุนในระบบรางและระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น อาณัติสัญญาณ เป็นต้น โดยจะได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้นำมาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ ลดภาษีนิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5-10 ปี แล้วแต่เงื่อนไข ซึ่งจะสร้างโอกาสในช่องทางใหม่ ๆ ในจังหวัด ทั้งยังสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาจังหวัดในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบราง

ในบทบาทหอการค้านั้น หอการค้าจังหวัดขอนแก่นมีการสานสัมพันธ์กับประเทศที่มีกงสุลในจังหวัด ทั้ง สปป.ลาว เวียดนาม จีน และจัดทำ business matching ไว้ก่อน เมื่อโครงสร้างพื้นฐานเสร็จจะเห็นผลทางธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันรถไฟทางคู่ในเฟสขอนแก่นตอนนี้เชื่อมถึงนครราชสีมาเรียบร้อยแล้ว และจะเชื่อมไปถึงอุดรธานี หนองคาย และเวียงจันทน์ ในเฟสต่อไป นอกจากนี้จะมีรถไฟที่เชื่อมไปยังนครพนม ต่อไปยังบึงกาฬ เชื่อมไปสู่ สปป.ลาวได้อีกด้วย

ต่อยอดระบบราง-อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การพัฒนาด้านระบบรางจะสนับสนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมในจังหวัด เพราะระบบรางจะสามารถลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งเมื่อการดำเนินโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดขอนแก่นเสร็จสิ้นทุกโครงการทั้งทางบก มอเตอร์เวย์จากนครราชสีมา รางรถไฟทางคู่ และทางอากาศการขยายท่าอากาศยานจังหวัดขอนแก่น รวมถึงท่าเรือบก จะทำให้ขอนแก่นมีศักยภาพสูงขึ้นอย่างรอบด้าน สังเกตได้จากการจัดตั้งสถานกงสุลทั้งจีน สปป.ลาว และเวียดนาม ในจังหวัด ซึ่งแสดงถึงการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ที่มองเห็นศักยภาพของขอนแก่น

ปัจจุบันขอนแก่นยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่พอจะพยุง GDP ของจังหวัดได้ แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูง หากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีการจัดทำท่าเรือบกเสร็จสิ้น มีหลายบริษัทแสดงความสนใจถึงทิศทางการลงทุนในขอนแก่น เพราะการใช้ระบบรางในการขนส่งไปยังภูมิภาคต่าง ๆ จะประหยัดกว่าการขนส่งทางถนน ทั้งยังสามารถทำการค้ากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้

“ขอนแก่นโชคดีที่ยังไม่มีอุตสาหกรรมหนักมาลงทุน ทำให้พูดคุยกันได้ว่าจะวางทิศทางจังหวัดในอนาคตอย่างไร ไม่ให้เป็นการลงทุนทำลายทรัพยากรในพื้นที่แล้วไม่ตอบแทนแก่พื้นที่และประชาชนในพื้นที่เลย เพราะหาก GDP สูงแต่เกิดมลพิษ มีแต่ความเสื่อมโทรม จะไม่มีประโยชน์อันใดเกิดกับจังหวัดเลย”