จี้ 3 จังหวัดตะวันออกทำ GAP ลำไย สแกนรายตำบลก่อนออกฤดูใหม่ ก.ย.

หลังจากจีนออกมาตรการตรวจสอบเข้มงวดรายชื่อสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้สดของไทย 5 ชนิด มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ ที่ผลผลิตเข้าไปขาย และเริ่มบังคับใช้ระเบียบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ส่งผลให้ผลไม้ทางภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมด้านคุณภาพผลผลิต และการตลาดในการพัฒนาคุณภาพผลไม้ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ระยอง จันทบุรี ตราด

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร (สวพ.6) ได้จัดประชุม “แนวทางการตรวจรับรองแปลงมาตรฐาน GAP ภาคตะวันออก” เมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อเตรียมแผนเชิงรุกตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เพื่อให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (good agricultural practice : GAP) และโรงคัดบรรจุผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (good manufacturing practice : GMP) ให้ทันฤดูกาลลำไยภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน และ ทุเรียน มังคุด เดือนมีนาคมปี 2563

ปัญหา GAP ทำได้แค่ 1 ใน 4

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การทำ GAP และ GMP ภาคตะวันออกมีความตื่นตัวมาก ตั้งแต่ปี 2561 เมื่อมีปัญหาผลกระทบที่ภาคใต้ เกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุไม่มีมาตรฐาน GMP ส่งออกไปจีน แต่ผ่านด่านจีนไม่ได้ ทำให้เกษตรกรมีความกระตือรือร้นมากขึ้น

ทุกวันนี้มีเกษตรกรยื่นเรื่องขอจดทะเบียนที่ สวพ.6 วันละไม่ต่ำกว่า 50 ราย จากที่รอดำเนินการอยู่ประมาณ 4,000 แปลง และเดือนกันยายนลำไยจะออกสู่ตลาด และอีก 8 เดือน คือ เดือนมีนาคม 2563 จะเริ่มฤดูกาลผลไม้ ทุเรียน มังคุด สวพ.6 จึงเรียกประชุมแนวร่วมเครือข่ายภาคเอกชน เช่น สถาบันทุเรียนไทย สมาคมการค้าการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี หอการค้าจังหวัดจันทบุรี ตราด และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทเอกชนที่จัดทำใบรับรองแหล่งผลิต GAP ที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง เพื่อหารือทำความเข้าใจ ขั้นตอนที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะลำไยต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ส่วนโรงคัดบรรจุตามมาตรฐาน GMP ไม่น่าห่วงมากนัก

จากข้อมูลลงพื้นที่สำรวจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ของ สวพ.6 พบว่า มีล้งผลไม้จำนวน 600 ล้ง อยู่ในจันทบุรี 500 กว่าล้ง ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 มีล้ง ทุเรียน มังคุด ลำไย พืชรวมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 392 โรง คือ จันทบุรี 353 โรง และอยู่ในระหว่างตรวจปรับปรุง 6 โรง ตราด 17 โรง ระยอง 22 โรง

ปัญหาการทำมาตรฐาน GAP คือ 1) การได้รับ GAP ยังน้อยมาก เช่น จันทบุรี อัตราส่วนเพียง 1ใน 4 จากพื้นที่ปลูกไม้ผล 5 ชนิด (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) จำนวน 600,000 ไร่ 2) เกษตรกรที่ยื่นขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP มีปริมาณมาก จากปี 2561 ถึงปัจจุบันยื่นขอไว้ 4,000 กว่าแปลง ซึ่งมีสัญญาประชาคมกันไว้ว่า ถ้าสมัครขอใบรับรอง GAP ก่อน วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถ้าผ่านการตรวจจะได้ใบรับรอง GAP ภายใน 31 มีนาคม 2563 ซึ่งต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครือข่ายทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ นอกจาก สวพ.6 กรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่ตรวจและออกใบรับรองแล้ว มีหน่วยงาน 2 แห่งที่กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน ให้ตรวจออกใบรับรอง GAP แต่มีค่าใช้จ่าย คือ สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และบริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด

“ต่อไปกรมวิชาการเกษตรจะมีการถ่ายโอนใบรับรองนี้ให้ภาคเอกชน ได้เสนอให้สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ให้เข้ามาช่วยตรวจรับรอง เหมือนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แต่ในระยะสั้น 2 เดือนกับการขอใบรับรอง GAP ของลำไยกับ 8 เดือนกับทุเรียน มังคุด จำเป็นต้องมีมาตรการที่เร่งด่วนที่ได้ข้อสรุปพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว” ผอ.ชลธีกล่าว

สแกนรายตำบลจี้เกษตรทำ GAP

นายชลธีกล่าวถึงแนวทางการทำ GAP ระยะเร่งด่วนว่า มี 4 แนวทาง คือ 1) ตรวจแบบกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ที่รวมกันตั้งกลุ่มตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีหัวหน้ากลุ่มดูแล จะสุ่มตรวจและให้ใบรับรองเป็นรายบุคคล 2) มาตรการของโรงคัดบรรจุต้องซื้อจากเกษตรกรที่มีใบรับรอง GAP เท่านั้น ล้งเป็นผู้ควบคุมดูแล 3) สแกนรายพื้นที่ รายตำบล โดยขอให้ อบต. เทศบาล เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยตรวจสอบเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP เป็นรายตำบล ส่งรายชื่อให้สำนักงานเกษตรอำเภอจัดทำแผนส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับ สวพ.6 แจ้งเกษตรกรมารับคำชี้แจง จัดทำเอกสาร อบรมให้ความรู้ และ 4) การมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน โดยรับสมัครเกษตรกร ผู้แทนขายยา ขายปุ๋ย ไม่จำเป็นต้องมีแปลงเกษตรเป็นของตัวเองอบรมเข้มหลักสูตรผู้ตรวจรับรอง เพื่อทำหน้าที่ทีมวิทยากรพี่เลี้ยงเตรียมความพร้อม

ทางด้าน นายชรัตน์ เนรัญชร เกษตรกรเจ้าของสวนลำไยขนาดใหญ่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าวว่า ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่งของจันทบุรี ผลผลิตปีละ 250,000 ตัน มูลค่า 10,000-12,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานเพื่อให้ราคาดีขึ้น ควรตั้งเป้าการทำ GAP ของลำไยให้ชัดเจน เช่น 80% ภายใน 3 ปี เพื่อนำเสนอแผนนี้เป็นโมเดลจันทบุรีในการแก้ปัญหาที่ภาคใต้ และขอให้ล้งทำความเข้าใจเรื่องการทำคุณภาพกับลูกค้า เพื่อป้องกันเป็นข้ออ้างกดราคา

นายปิยะ สมัครพงษ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกลำไยเคยเข้าสู่ระบบมีใบรับรองมาตรฐานมาแล้ว 67% ต่อมาล้งที่รับซื้อมีหรือไม่มี GAP ราคาไม่มีความแตกต่าง จึงไม่ต่ออายุ ส่วนเกษตรกรรายใหม่ ๆ เป็นเกษตรกรรายย่อยยังขาดองค์ความรู้ ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับ GAP จำนวน 2,465 ราย คิดเป็น 27% ของพื้นที่ปลูก คาดว่าในระยะ 2 เดือนจะทำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 35% ถ้าดึงเอาสมาชิกกลุ่มเกษตรกรเข้ามาทำก่อน

ทั้งนี้ จากผลการตรวจรับรองโรงคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออกในพื้นที่ สวพ.6 เฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียน มังคุด ลำไย สำคัญของภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ระยอง จันทบุรี ตราด ณ วันที่ 31 ก.ค. 62 มีโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกไปจีนได้รับการรับรองแล้วจำนวน 392 โรง จากยื่นขอมาทั้งหมด 397 โรง โดยระยองได้รับการรับรองแล้ว 22 โรง จันทบุรีผ่านการรับรองแล้ว 353 โรง อยู่ระหว่างรอตรวจ 5 โรง และตราดได้รับการรับรอง 17 โรง และผลการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืช (GAP) ข้อมูล 30 ก.ค. 62 มีแปลงทุเรียน มังคุด ลำไย จดทะเบียน 13,683 แปลง 169,293.44 ไร่ ผ่านการรับรองและไม่หมดอายุ 9,887 แปลง 126,493.02 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ 3,796 แปลง 42,800.42 ไร่ โดยจังหวัดระยองจดทะเบียน 2,196 แปลง 13,805 ไร่ ผ่านการรับรองและไม่หมดอายุ 1,311 แปลง 9,438 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ 885 แปลง 4,365 ไร่ และจันทบุรีจดทะเบียน 9,708 แปลง 136,182 ไร่ ผ่านการรับรองและไม่หมดอายุ 7,217 แปลง 108,181ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ 2,491 แปลง 35,215 ไร่ ตราดจดทะเบียน 1,266 แปลง 13,487 ไร่ ผ่านการรับรองและไม่หมดอายุ 992 แปลง 11,292 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ 274 แปลง 2,195 ไร่