“เชียงใหม่วิสาหกิจ”พลิกฟื้นแม่แจ่ม เลิกปลูกข้าวโพดหนุน35ครัวเรือนปั้นเกษตรมูลค่าสูง

กลุ่มนักธุรกิจเมืองเชียงใหม่ ระดมทุนตั้ง “บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด” เริ่มโปรเจ็กต์เร่งด่วนแก้ปัญหาหมอกควันพื้นที่แม่แจ่ม พลิกแผ่นดินจากเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สู่การทำเกษตรมูลค่าสูง ปั้นโมเดล “บ้านสองธาร” 200 ไร่ เลิกเผาเด็ดขาด ชาวบ้าน 35 ครัวเรือนเข้าร่วมโครงการ จัดระบบพื้นที่ 4 โซน เน้นพืชเศรษฐกิจเจาะตลาดอาหารท้องถิ่น โรงเรียน โรงแรม ซูเปอร์มาร์เก็ต ผลผลิตลอตแรกออกปลายปีนี้

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ก่อตั้งขึ้นมาด้วยการรวมตัวกันของนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ โดยต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จังหวัดเชียงใหม่เติบโตอย่างรวดเร็วในทุกมิติ แต่เป็นการเติบโตที่ไร้การควบคุม มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย และมีปัญหาหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งการรวมตัวกันภายใต้ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มุ่งเน้นให้เป็นองค์กรที่ทำงานแบบจิตอาสาและจิตสะอาด เพื่อพัฒนาสังคมเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น

สำหรับรายได้หรือกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจของบริษัท จะไม่มีเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีเป้าหมายชัดเจนคือการทำธุรกิจแบบ Social Enterprise (SE) ซึ่งจะไม่นำเงินเข้ากระเป๋า แต่จะเป็นกำไรที่ไถกลบนำไปสานต่อและพัฒนาเพื่อสังคม

ด้านนายไพรัช โตวิวัฒน์ กรรมการอำนวยการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของบริษัทเป็นการประกอบกิจการโดยการนำผลกำไรทั้งหมด ไปลงทุนหรือใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม และพัฒนาระบบงานเพื่อการบริหารแบบมุ่งเน้นกลยุทธ์ (Strategists Focused System Development) ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่สังคมโดยส่วนรวม

ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เป็นการระดมทุนจากนักธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีเจตนารมณ์ทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยบริษัทเอกชนระดมทุนรายละ 50,000 บาท นิติบุคคลรายละ 10,000 บาท และองค์กร/บุคคลทั่วไป 3,000 บาท ขณะนี้รวบรวมเงินได้ราว 1.2 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำมาบริหารจัดการ ช่วยเหลือ และสำรองจ่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนรายได้ของบริษัทเบื้องต้นจะมาจากการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร เพื่อนำไปขายให้กับตลาดหรือพาร์ตเนอร์ของบริษัท หรือการทำปุ๋ยเพื่อจำหน่าย เป็นต้น

สำหรับพื้นที่นำร่องที่บริษัทได้เข้าไปทำงานเป็นพื้นที่แรก คือ บ้านสองธาร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอำเภอแม่แจ่มเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แหล่งใหญ่ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 1 แสนไร่ และเป็นพืชเกษตรเชิงเดี่ยวที่ก่อปัญหาหมอกควันมาตลอดหลายปี โดยก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา ราวต้นปี 2559 นักธุรกิจเชียงใหม่กลุ่มนี้ราว 5-6 คน ก็ได้รวมตัวกันเพื่อทำงานในพื้นที่แห่งนี้

ปัจจุบันพื้นที่เกษตรราว 200 ไร่ของบ้านสองธาร ได้ปรับเปลี่ยนจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นการทำเกษตรมูลค่าสูง นับเป็นพื้นที่โมเดลที่ไม่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100% ไม่มีจุดความร้อน (Hot Spot) เพราะเลิกเผาเด็ดขาดแล้ว

นายไพรัชกล่าวอีกว่า พื้นที่นำร่อง 200 ไร่ของบ้านสองธาร มีทั้งหมด 35 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเกษตร โดยมีการจัดระบบพื้นที่ 4 โซน คือ โซนทำมาหากิน ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และกบ โซนทำมาค้าขาย ปลูกผลไม้ อาทิ กล้วย สับปะรด ฝรั่ง เมล่อน มะเขือเทศ ขิง ข่า ตะไคร้ พืชสมุนไพร เป็นการทำเกษตรประณีต และในระยะต่อไปจะเพิ่มการทำปศุสัตว์ เน้นโคเนื้อและโคนมโดยบริษัทจะจัดหาตลาดรองรับซึ่งวางช่องทางตลาดไว้ คือ มุ่งตลาดภายในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ในรูปแบบ Local Food จัดหาตลาดหน่วยงานองค์กรในพื้นที่ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ รวมถึงการจัดหาตลาดภายนอก เช่น โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต ล่าสุดได้เจรจากับริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อนำผลผลิตของเกษตรกรมาวางจำหน่าย โดยผลผลิตลอตแรกจะเริ่มออกในช่วงปลายปีนี้

ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมการปลูกกาแฟ โดยมีพาร์ตเนอร์ของบริษัทที่คาดว่าจะเป็นตลาดรับซื้อ ได้แก่ กาแฟวาวี และกาแฟฮิลล์คอฟ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีโซนป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง และโซนป่าอนุรักษ์ ซึ่งในปีแรกคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้สูงขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งนี้ บริษัทยังได้วางแผนไว้ว่าจะส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรในพื้นที่บ้านสองธารให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น