เอือม”ร.ฟ.ท.”เสี่ยอุดรล้มนิคม 3 พันล. เอกชนหวั่นกระทบลงทุน-จังหวัดเร่งหาทางออก

ผู้บริหารโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเหลืออด ร.ฟ.ท.ไม่ชัดเจนเชื่อมรางรถไฟเข้าโครงการ ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ประกาศพับโครงการทั้งที่ผ่านอีไอเอ และหลายภาคส่วนเข้าสนับสนุนแล้ว ด้านเอกชนประสานเสียงหวั่นกระทบการลงทุนเมืองอุดร แนะร่วมเจรจาใหม่ ด้านรองผู้ว่าฯอุดรธานีเผย หากโครงการล้มจริงเสียหายมาก เตรียมประสานหน่วยงานเร่งหาทางแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล หรือเสี่ยต้อย นักธุรกิจท้องถิ่นอุดรธานีที่มีชื่อเสียง เจ้าของธุรกิจโรงโม่หินในจังหวัดเลย เจ้าของสโมสรฟุตบอลอุดรธานีเอฟซี และประธานกรรมการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ประกาศหยุดเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่ลงทุนไปแล้วร่วม 3,000 ล้านบาท เนื่องจากเหลืออดกับเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่มีความชัดเจน

ประกาศล้มนิคมอุดรฯ

นายสุวิทย์กล่าวว่า เนื่องจากการขนส่งทางราง คือ จุดขายที่ต้นทุนทางโลจิสติกส์ถูกกว่าทางรถยนต์ถึง 4 เท่า เราจึงได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในการก่อสร้างรางรถไฟจากสถานีหนองตะไก้ ถึงพื้นที่เชื่อมต่อเข้านิคมระยะทาง 1.8 กิโลเมตร วงเวิน 42.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC) และโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า หรือคอนเทนเนอร์ยาร์ดหนองตะไก้ เพื่อเป็นคลังกระจายสินค้ากลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน เชื่อมต่อ สปป.ลาว เวียดนาม และจีน เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออก

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า หากมีการเชื่อมต่อจะนำไปประชาสัมพันธ์ และโรดโชว์ เชิญชวนนักลงทุนให้มาลงทุนได้ เพราะประโยชน์ไม่เพียงขนส่งสินค้าในนิคม แต่ยังเอื้อให้กับสินค้าอื่น ๆ และ ร.ฟ.ท.ก็จะได้ประโยชน์จากค่าระวางสินค้า แต่จากการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถไปบอกเชิญชวนนักลงทุนได้ และหากภาครัฐจะให้นิคมลงทุนเองทั้งหมดก็ทำได้ แต่ไม่ยุติธรรมสำหรับภาคเอกชน เพราะที่ผ่านมาได้ลงทุนไปเยอะแล้ว นอกจากประเด็นรางรถไฟ ยังมีประเด็นที่นิคมได้ยื่น BOI ขอสิทธิประโยชน์การลงทุนให้เท่ากับเขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่คืบหน้าเช่นกัน ทำให้เสียเปรียบ เพราะเริ่มการแข่งขันก็แพ้แล้ว

“อยากจะขอโทษพี่น้องชาวอุดรฯว่า เหลือทน ผมทำสุดความสามารถแล้ว กลับไม่ได้รับการสนองขนาดนี้ นิคมต้องหยุดแล้ว”

จังหวัดเร่งหาทางออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าของโครงการนั้นได้ผ่านขั้นตอนทำ EIA เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการปรับพื้นดิน ขุดบ่อ โดยได้เตรียมพื้นที่ไว้แล้ว 93 ไร่ พร้อมขยายได้ 400 ไร่ เป็นคลังสินค้า ซึ่งจุดนี้จะเป็นศูนย์กระจายสินค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้มอบที่ดิน 12 ไร่ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งบริษัทเดมโก้ประมูลได้ ขณะนี้กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 4 ในอุดรธานี ขนาด 100 เมกะวัตต์ ด้วยวงเงิน 193 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2561

ขณะที่แขวงการทาง เขตทางหลวงที่ 2 อุดรธานี เปิดทางแยกเกาะกลางถนนมิตรภาพ พร้อมติดตั้งไฟสัญญาณจราจรจุดเลี้ยวเข้าโครงการ วงเงิน 60 ล้านบาท กรมทางหลวงขยายถนนจาก 4 เลน เป็น 10 เลน พร้อมไฟสัญญาณจราจร ริมหนองนาตาลจากถนนนิตโย ออกไปถนนมิตรภาพ วงเงิน 40 ล้านบาท การประปาภูมิภาคกำลังอยู่ระหว่างของบประมาณที่จะขยายเขตจำหน่ายน้ำประปาจากถนนสาธารณะถึงหน้าปากทางเข้าโครงการ ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร วงเงิน 14 ล้าน

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เดิมมีนักธุรกิจท้องถิ่นอุดรธานี 34 คน ร่วมทุนกัน ตั้งแต่ปี 2537 แต่ไม่มีความคืบหน้าโครงการ จนกระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เกิด NPL นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล หรือเสี่ยต้อย ได้ซื้อต่อมาดำเนินการเองเพียงหุ้นเดียว และทยอยซื้อพื้นที่เพิ่มขยายไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 2,219 ไร่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย แปรรูปสินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โดย กนอ.คาดการณ์ไว้ หากเกิดจะมีเงินลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี 74,000 ล้านบาท

ด้านนายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องการพับโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หากเป็นเช่นนั้นจริง จังหวัดก็ไม่นิ่งนอนใจ เราจะเร่งนัดหมายผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือหาทางแก้ไข แต่ที่ผ่านมาเมื่อจังหวัดนัดหารือ ส่วนกลางมักจะส่งแต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมา ทำให้การดำเนินการไม่มีความชัดเจน ดังนั้น เน้นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมาร่วมประชุม เพราะหากโครงการนี้ล้มจริง ๆ ก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก เนื่องจากการดึงนักลงทุนมาที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเราด้วย

เอกชนหวั่นกระทบลงทุน

นายธีระ ตั้งหลักมั่นคง อดีตประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า โครงการนี้ลงทุนลงแรงมานาน ไม่ควรมาหยุดอยู่ตรงนี้ อยากให้ภาครัฐมาส่งเสริมให้เต็มที่ ไม่ควรมาติดขัดเรื่องเล็กน้อย เพราะมีคนที่ใจสู้ขนาดนี้ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งต้องส่งเสริม คนอุดรฯเชียร์มาตลอด ตอนนี้อุดรธานีเป็นเป้าหมายของการลงทุนในอีสานตอนบน และ AEC เป็นโอกาสที่ดีที่สุด คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ลำบากมากมายอะไร

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการหอการค้าไทย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ของอุดรฯ ส่วนตัวคิดว่าคงจะมีการเจรจากันเพื่อให้กลับมาทำ คงหยุดไม่ได้ เพราะเป็นภาพของจังหวัด เป็นภาพของประเทศไทย หลายหน่วยงานลงทุนไปเยอะแล้ว พูดในฐานะภาคเอกชน จริง ๆ รัฐต้องชัดเจนในเรื่องการลงทุน ไม่อย่างนั้นหาคนลงทุนขนาดนี้ยาก

“คงต้องยกทีมไปคุยกัน หยุดไม่ได้ เราเป็นจังหวัดแห่งการลงทุน เกิดเรื่องอย่างนี้เสียหายทั้งระบบ อุดรฯจะล้มทั้งกระดาน ต่อไปใครจะกล้ามาลงทุน”

นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า โครงการนี้ลงทุนไปมหาศาล ภาครัฐในอุดรฯก็ส่งเสริม ภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงานอยากให้มีนิคม เพื่อจะได้กลับมาทำงานที่บ้าน ถ้าปิดไปเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก อุดรธานีเสียโอกาส อยากให้ทบทวน

ด้านนายพรเทพ ศักดิ์สุจริต ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เปิดเผยว่า อยากเป็นกำลังใจให้คุณสุวิทย์ อยากให้มีทางผลักดัน อย่าเพิ่งยุติ สิ่งที่นักลงทุนคาดหวัง ถ้าหากนิคมอุตสาหกรรมเสร็จ อยากให้ดำเนินการต่อไป เป็นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในจังหวัดอุดรธานี