3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลูกไผ่ 300,000 ไร่ ส่ง รง.ไฟฟ้าชีวมวลเกาหลี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงงานว่าที่ห้องประชุมเจริญจิตต์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานการปลูกไผ่เศรษฐกิจ พืชแห่งอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้ มี นาย เฟลิก มูน ประธานกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ดีเค เอเนอร์จี จำกัด ประเทศเกาหลีใต้ และคณะผู้แทน บริษัท วู้ดพลัส จำกัด ฯลฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากทาง ศอ.บต. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงแนวทางการส่งเสริมเกษตรผสมผสานผ่านการปลูกไผ่เศรษฐกิจ พืชแห่งอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีสภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) บริษัท วู้ดพลัส จำกัด และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน จากประเทศเกาหลีใต้ ร่วมลงนาม

ส่วนของ ศอ.บต. จะเป็นหน่วยงานกลาง ประสานเชื่อมโยง ริเริ่มดำเนินการ เร่งรัด กำกับการติดตามการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุตามเป้าหมาย ที่ตกลงไว้ในบันทึกข้อตกลง ซึ่งแปลงไผ่ปลูกนำร่องอยู่ที่หมู่บ้านเปาะยานิ หมู่ที่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กว่า 100 คน และมีการมอบพันธุ์ไผ่ ปุ๋ย และสารเร่ง รวมทั้งร่วมปลูกต้นไผ่ในแปลงเกษตร

พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต.ได้ลงนาม MOU การขับเคลื่อนปลูกไผ่เศรษฐกิจ จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ภาคใต้ และไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ซึ่งสามารถปลูกแซมสวนยางพาราได้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมาะจะเป็นพื้นที่ทำการพัฒนา

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ ต้องการไผ่ชนิดนี้ไปบดอัดเม็ดเป็นชีวมวล ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานไฟฟ้าของประเทศเกาหลีใต้ เพื่อลดภาวะโลกร้อน จึงจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบชีวมวลมหาศาล โดยในประเทศไทยจะเริ่มต้นนำร่องในจังหวัดยะลา และกระจายไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการลงทุนครั้งเดียว และสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี

“สามารถเป็นอาชีพเสริม และอาจจะเป็นอาชีพหลักให้กับเกษตรกรในอนาคตได้ โดยตั้งเป้าหมาย 3 ปี จะต้องได้ประมาณ 300,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ มีเกษตรกรให้ความสนใจกว่า 855 ราย”


ด้าน นาย เฟลิก มูน ประธานกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ดีเค เอเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า ทางด้านการตลาด จะรับซื้อไผ่ที่ปลูกโดยเกษตรกรในพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์

นางขวัญใจ กลับสุกใส เจ้าของสวนไผ่ขวัญใจ และตลาดชุมชนป่าไผ่สร้างสุข อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะผู้บุกเบิกปลูกต้นไผ่ จ.พัทลุง เป็นรายแรก และปลูกจำนวน 13 ไร่ มาร่วม 13 ปี ปลูกสายพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง และสายพันธุ์ซางหม่น โดยปลูกอย่างเหมาะสม ขนาด 4 คูณ 3 ประมาณ 120 ต้น / ไร่ และขนาด 4 คูณ 4 จำนวน 96 ต้น / ไร่ และในระยะ 3 ปี จะแตกเป็นกอจำนวน 120 กอ / ไร่ ปริมาณกอละ 20 ต้น จะได้ประมาณ กว่า 2,000 ต้น / ไร่ / ปี ยิ่งอายุมากจะยิ่งแตกกอปริมาณเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีไผ่ตงลืมแล้ง จะเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าชีวมวลมาก แต่จะต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป ถึงจะให้ความร้อนที่เข้มข้น ซึ่งปัจจุบันถ่านไม้ไผ่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงตีเหล็ก เพราะช่วงล่างต้นมีน้ำหนักมาก และไผ่ตงลืมแล้ง จะปลูกง่าย เติบโตเร็ว หากเป็นเชิงธุรกิจการค้า จะใช้ได้สารพัดประโยชน์และได้ราคาที่ดีมาก สำหรับลำต้นจะขายเป็นเมตร เมตรละ 50 บาท นอกนั้นสามารถแปรรูปตั้งแต่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ฯลฯ

ส่วนไผ่สายพันธุ์ซางหม่น จะเป็นต้นยืนตรง ราคาลำ 100 บาท – 200 บาท จะได้รับความนิยม มากในการนำไปแปรรูปสร้างที่อยู่อาศัยเป็นบ้าน ปาเก้ เฟอร์นิเจอร์ และจะนำไปลงทุนสร้างรีสอร์ต ซึ่งรีสอร์ตไม้ไผ่ จะได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก ไผ่ อายุ 8 เดือน ให้ผลผลิตเป็นอาหารคือหน่อไม้ และ 3 ปี ให้ผลผลิตเป็นลำต้น ที่สามารถออกขายได้ และความต้องการของบตลาดมีมาก

นางขวัญใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกไผ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี จะเป็นโซนที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ร้อนชื่น ธรรมชาติดีมาก เมื่อปลูกประมาณ 300,000 ไร่ พื้นที่จะเป็นถังออกซิเจน เป็นอ่างกักเก็บน้ำ และสามารถลดภาวะลดร้อนได้ดี