ม.หาดใหญ่ชี้ดัชนีเชื่อมั่นใต้ดิ่งจี้รัฐอัดงบฯพัฒนา

ตกต่ำ - ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรในภาคใต้ตกต่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะยางพารา ปาล์ม รวมถึงผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่

ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้ดิ่ง เหตุราคาสินค้าเกษตรทั้งยางพารา-ผลไม้ตกต่ำ แถมปัญหาความขัดแย้ง-รุนแรงยังคุกรุ่น ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อการลงทุน ยอดนักท่องเที่ยวลดลงเป็นอย่างมาก เผยมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเป็นส่วน ๆ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนใต้ที่ตกต่ำเรื้อรังมานาน พร้อมเสนอรัฐอัดงบประมาณพัฒนา-อัดฉีดสิทธิประโยชน์จูงใจนักลงทุน

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ พบว่า ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคเกษตรยางพาราที่ตกต่ำ ราคาผลไม้ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกันในเดือนสิงหาคมมีราคาตกต่ำแตกต่างจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ประกอบกับสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากสถานการณ์ตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาลจีนกับสหรัฐ ซึ่งได้จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่าราว 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งการปรับลดลงของค่าเงินหยวนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลุกลามสู่สงครามการเงินและสงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก

“ตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวมาก รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดทั้งหมดปรับตัวลดลง คนระมัดระวังในการใช้จ่าย เดินทางท่องเที่ยวก็ลดลง ” ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวและว่า

ทั้งนี้ ล่าสุดคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้กำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อสร้างความมั่นใจ ออกมาตรการ 3 ด้าน คือ การพักชำระหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งใน 13 จังหวัด กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนผ่านมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว “ชิมช้อปใช้” โดยจะแจกเงินให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1 พันบาท เพื่อไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และมาตรการด้านค่าครองชีพ โดยการให้เงินแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงผู้สูงอายุ และผู้มีบุตร

ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ประชาชนภาคใต้ส่วนหนึ่งมองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเป็นส่วน ๆ ซึ่งไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ที่ซบเซาให้กลับมาได้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจภาคใต้ที่ตกต่ำมาเป็นเวลานานจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องได้รับการแก้ไขทั้งระบบ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจภาคใต้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลงในด้านการแก้ปัญหายาเสพติด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพราะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ เช่น โจรใต้ปล้นร้านทองครั้งมโหฬารมูลค่ากว่า 85 ล้านบาท ที่ อ.นาทวี จ.สงขลา คนร้ายวางระเบิดพร้อมกันหลายจุดที่จังหวัดยะลา เป็นต้น

ทั้งนี้ ประชาชนภาคใต้มองว่าปัญหาความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย และยังเห็นเหตุการณ์การก่อความไม่สงบยังคงมีอยู่ อีกทั้งมีการปรับยุทธวิธีและสถานที่ก่อเหตุที่เปลี่ยนไป ซึ่งสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อการลงทุนและการเข้ามาท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 34.70 และ 32.80 ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 39.70 และ 26.30

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29.40, 39.60 และ 32.80 ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 30.40 รองลงมาคือ ค่าครองชีพและราคาสินค้าสูงคิดเป็นร้อยละ 25.40 และ 12.30

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมาคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำตามลำดับ


ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นปัญหาความไม่สงบฯเรื่องการปล้นทองที่ อ.นาทวี จ.สงขลา โดยมุมมองของนักวิชาการจะมีผลกระทบต่อจิตวิทยาในระดับ 3 ที่ถือว่าสูงมาก เพราะจะส่งผลต่อการลงทุน การค้า และธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้น ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะต้องเสนอสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน