STeP ลุยปั้น Food Craft เหนือนำร่อง 30 สินค้าดันเพิ่มมูลค่า

เพิ่มมูลค่า - อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP)ได้พยายามพัฒนาและวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร

STeP เดินหน้าปั้น “Food Craft” “Food Innovation” ต่อยอด Food Valley ภาคเหนือ นำร่อง 30 ผู้ประกอบการ 30 สินค้าเด่น ยกระดับสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คาดสามารถเพิ่มมูลค่าเชิงรายได้ 30 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเหนือเป็นฐานการผลิตแหล่งใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหาร มีโรงงานในกลุ่มสินค้าอาหารมากกว่า 2,000 แห่ง มีมูลค่าต่อปีราว 5,000 ล้านบาท โดยนับตั้งแต่ปี 2555 ได้มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนโครงการ “พื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมด้านอาหารภาคเหนือ” (Northern Thailand Food Valley) เพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร (food) ให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งการพัฒนาจะต้องเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ล่าสุด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ฤทธิ์วิจิต จำกัด ได้ร่วมกันทำโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีศักยภาพด้านงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมการผลิตอัจฉริยะในอุตสาหกรรมอาหาร (Northern Thailand Food Valley to Smart Industry 4.0) มุ่งปลุกกระแสพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเมืองเหนือจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกระดับผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมด้วยพลังนวัตกรรมและความสร้างสรรค์

ทั้งนี้ โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน (นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562) มุ่งเน้นกิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารฯ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ การยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรเมืองหนาวด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (Food Innovation) และการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารล้านนาสร้างสรรค์ (Northern Craft for Food) โดยจะคัดเลือกผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพียง 30 ราย ทั้งผู้ประกอบการ

ด้านอุตสาหกรรมอาหารและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญจนเกิดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ รวมถึงได้เปิดเวทีจัดแสดงสินค้าและเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจ (business matching) กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ

ผศ.ดร.เกษมศักดิ์กล่าวต่อว่า การยกระดับสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปด้วยการนำนวัตกรรม (innovation) มาพัฒนานั้น จะทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบันได้ เช่น การใช้นวัตกรรมเพื่อยืดอายุสินค้าให้นานขึ้น รวมถึงนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ ขณะที่การยกระดับอุตสาหกรรมอาหารล้านนาสร้างสรรค์ (Northern Craft for Food) เป็นการตอบโจทย์เทรนด์ตลาดผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ ซึ่งการพัฒนา food craft เป็นการต่อยอดอาหารในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ผ่านพื้นฐานเรื่องราววัฒนธรรม งานหัตถกรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถต่อยอดสินค้าให้เกิดมูลค่าได้สูงขึ้นหลังจบโครงการภายในระยะเวลา 6 เดือน คาดว่าภายใน 1 ปีจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงรายได้ราว 30 ล้านบาท จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 30 ราย 30 สินค้าเด่น