หอการค้าเชียงใหม่ดัน 4 บิ๊กโปรเจ็กต์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เอกชนเชียงใหม่ชงรัฐ 4 ด้านหลักแก้เศรษฐกิจ “ผังเมือง-ระบบขนส่งสาธารณะ-การท่องเที่ยว-หมอกควัน”

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ได้ประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นแนวทางให้ภาครัฐพิจารณาสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านผังเมืองและโลจิสติกส์ 2.ด้านระบบขนส่งสาธารณะ 3.ด้านการท่องเที่ยว และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาหมอกควัน เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นและทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

วโรดม ปิฏกานนท์

สำหรับด้านผังเมืองตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 ต่อ (ร่าง) ผังเมืองรวมจังหวัดเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 1) โดย กกร.จังหวัดเชียงใหม่เสนอให้มีการออกแบบผังเมืองรวมแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่ เขตเมืองเก่า พื้นที่กันชนนับจากพื้นที่อนุรักษ์ไปถึงทางหลวง 11 (ชม.-ลำปาง) และพื้นที่พัฒนาเริ่มจากทางหลวง 11 ผ่าน 3029 จนถึง 121 โดยขอบเขตผังเมืองรวมให้มีการนำพื้นที่อำเภอสันกำแพงเข้ามาอยู่ในเขตผังเมือง (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ให้นำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงในปี 2562 เป็นฐานหลักและทำประมาณการใช้ประโยชน์ที่ดินล่วงหน้า 5 ปี ขณะเดียวกันผังเมืองใหม่ควรชี้นำการพัฒนาเมือง่ในด้านต่าง ๆ ที่ครบ ได้แก่ พื้นที่สนามบินแห่งที่ 2 สถานีรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟ (รถไฟรางคู่, รถไฟความเร็วสูง, Airport Link, รถไฟเชียงใหม่-เชียงของ, พื้นที่ซ่อมบำรุง พื้นที่ด้านเศรษฐกิจ หรือ transit oriented development (TOD) รถไฟฟ้ารางเบาขนส่งมวลชนที่จะรองรับจะต้องบรรจุสถานีรถโดยสารระหว่างอำเภอ 4 แห่ง, การปรับสถานีรถโดยสารช้างเผือกเป็น park and ride

รวมถึงพื้นที่ TOD แต่ละแห่ง ควรให้มีการพัฒนาอาคารในแนวสูง และส่วนพื้นที่ธุรกิจ ที่อยู่อาศัย สถานศึกษาและสถานพยาบาลให้มีความสอดคล้องกัน และควรกำหนดพื้นที่ที่มีความชัดเจน ได้แก่ พื้นที่โบราณสถาน พื้นที่วัฒนธรรม ย่านเมืองเก่า พื้นที่บำบัดน้ำเสีย และผังเมืองควรมีการระบุพื้นที่ระบายน้ำแนวการพัฒนาคลองแม่ข่า ให้ทำข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยทำ data map ด้านผังระบายน้ำในเขตเมืองเชียงใหม่

ด้านระบบขนส่งมวลชนที่รัฐบาลเตรียมให้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเริ่มจากสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นลำดับแรกนั้น เสนอว่าควรเพิ่มเติมงานเขียนและออกแบบและทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สายสีเขียวและสีน้ำเงิน ควบคู่ไปกับสายสีแดงเพื่อจะได้มีการวางแผนดำเนินการที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกัน ทั้งนี้ การขยายเส้นทางรถไฟฟ้าอีกสองเส้นทางคือสีเขียวและสีน้ำเงิน ภาครัฐควรสนับสนุนให้เอกชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงโครงการและมีส่วนร่วมในการออกแบบ การดำเนินการก่อสร้าง การบริหารจัดการระบบขนส่ง และร่วมลงทุนเองได้

อีกประเด็นคือ การแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสถิตินักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ปี 2561 มีทั้งหมด 10,844,753 คน เป็นคนไทย 7.5 ล้านคน ชาวต่างชาติ 3.2 ล้านคน จำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีน 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 4% สามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่เพิ่มขึ้น 10% ถึง 108,012 ล้านบาท และในอนาคตคาดว่านักท่องเที่ยวจะขยายตัวเป็น 12 ล้านคน ในปี 2562 และในปี 2563-2565 มีประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นถึง 15-20 ล้านคน

ประเด็นนี้ภาคเอกชนเสนอให้มีการจัดทำ big data หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจากหลายแหล่งมาจัดระเบียบให้มีรูปแบบโครงสร้างที่ง่าย สะดวก และรวดเร็วต่อการใช้งานในทุกมิติ นอกจากนี้เสนอให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวสู่ชุมชนมากขึ้น โดยสร้างกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในชุมชน เช่น การพัฒนา street food ย่านวัดศรีสุพรรณ การพัฒนาย่านชุมชนวัดเกตุ บ่อสร้าง ชุมชนดอยสะเก็ด เป็นต้น


ส่วนอีกปัญหาสำคัญคือ ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องปัญหาหมอกควัน ที่เกิดจากการเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่าในภาคเหนือ รวมทั้งในเมียนมาและ สปป.ลาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเผาต่อซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเตรียมปลูกรอบต่อไป โดย กกร.มีข้อเสนอสำคัญในระดับประเทศ คือการผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด และการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ/ระดับจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และให้มีแผนแก้ไขที่ชัดเจนเพื่อความเชื่อมั่นในปี 2563 ได้แก่ การจัดตั้งคณะทำงานระดับชาติที่เชื่อมกับการเป็นประธานอาเซียน รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบด้วยเอกชน, ประชาชน, นักวิชาการ, แพทย์ และการท่องเที่ยว