ชาวเชียงใหม่รุกตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” เร่งแก้วิกฤตฝุ่นควัน-ดันกฎหมายอากาศสะอาด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ว่า วันนี้ (9 กันยายน 2562) คณะประสานงานพลังชาวเชียงใหม่ ได้จัดแถลงข่าวการริเริ่มก่อตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประชาคมชาวเชียงใหม่ อาทิ องค์กรเอกชน องค์กรวิชาการ องค์กรประชาสังคม เพื่อผลักดันแก้ปัญหาฝุ่นควัน ณ โรงแรมเชียงใหม่ ออคิด

นายบัณรส บัวคลี่ กรรมการภาคีคนฮักเจียงใหม่ เปิดเผยว่า แนวคิดก่อตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” มาจากบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษฝุ่นควันหลายภาคส่วน อาทิ ภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ ภาคเอกชน (กกร.) และภาคประชาชน ซึ่งเห็นพ้องและมีเป้าหมายร่วมกันว่า นับจากนี้จะต้องรวมพลังประชาสังคมให้เป็นเอกภาพ ประสานเสริมพลังของชาวเมืองทุกฝ่าย เป็นอีกพลังที่ร่วมผลักดันการแก้ปัญหาฝุ่นควันในทุกระดับ ทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 12 ปี โดย มุ่งไปสู่เป้าหมายทำให้สังคมของเชียงใหม่มีอากาศสะอาดทุกฤดูกาล

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีกุญแจ 2 ดอก กุญแจดอกแรก คือ มาตรการของรัฐและกลไกการแก้ปัญหาของรัฐ และกุญแจดอกที่สอง คือ พฤติกรรมของสังคม ซึ่งสภาลมหายใจเชียงใหม่ จะเป็นพลังเข้าไปขับเคลื่อนและผลักดัน

นายบัณรส กล่าวว่า ปัญหามลพิษฝุ่นควันสามารถแก้ไขได้ โดยต้องมองปัญหาในระยะยาวและมุ่งการแก้ไขอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้มาตรการผลักดันทางสังคม ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมายและปฏิบัติการของราชการ การมุ่งแก้ปัญหาที่การดับ โดยระงับการเผาในช่วงเวลา 3 เดือนของระยะเผชิญเหตุยังไม่เพียงพอ ต้องมีการทำงานต่อเนื่องระยะยาว มุ่งที่การแก้ต้นตอในระยะกลางและระยะยาวพร้อมกัน ขณะที่ปัญหาฝุ่นควันมีความขัดแย้งมากมายในทุกมิติและทุกระดับของสังคม สภาลมหายใจเชียงใหม่จะใช้แนวทางหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง หนุนเสริม เสนอแนะ ผลักดัน และปฏิบัติการบนพื้นฐานของความร่วมมือ มองผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง มุ่งคิดออกแบบโครงการที่มุ่งประสานความเข้าใจระหว่างประชาชนในเมืองและชนบท มุ่งลดต้นตอแหล่งกำเนิดมลพิษจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าทั้งจากในเมืองและชนบท รณรงค์ให้สังคมเห็นภยันตรายจากปัญหานี้ และมองผลกระทบในภาพรวมของปัญหานิเวศแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ที่มีความสามารถระบายอากาศของเสียลดลง

โดยรูปแบบของสภาลมหายใจเชียงใหม่ จะมีกลไกการทำงาน กล่าวคือ ประชาคมที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันเป็นเจ้าของ มีสมาชิกสองแบบคือ แบบองค์กร และแบบบุคคล จะมีกลไกงานเลขานุการ จัดการเรื่องเอกสาร รายชื่อ การรับสมัคร ประสานงานและสื่อสารภายใน สภาลมหายใจจะเปิดรับสมาชิกต่อเนื่อง เปิดประตูให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมตลอดเวลา มีคณะทำงานทำงานร่วม 4 ฝ่าย คัดเลือกตัวแทนสมาชิกจากฝ่าย สาธารณสุข ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายองค์กรเอกชน (ธุรกิจ) และฝ่ายประชาชน ร่วมกันผลักดันงาน รักษาทิศทางของขบวนให้ไปสู่เป้าหมาย ในเบื้องต้นจะมีตัวแทนฝ่ายละ 5 คน โครงการและกิจกรรมพิเศษ พื้นที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทำงานของภาคประชาสังคมและสมาชิก

โดยภายในเดือนกันยายน 2562 จะตั้งคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย เพื่อผลักดันองค์กรระยะเริ่มต้น และเดือนตุลาคม 2562 จะเปิดประชุมสภาลมหายใจ ครั้งที่ 1 เพื่อประกาศข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาล พร้อม-แถลงกิจกรรมและทิศทางการต่อสู้กับปัญหาฝุ่นควันในปี 2563

นายบัณรสกล่าวต่อว่า กิจกรรมรณรงค์ระยะแรก ร่วมผลักดันมาตรฐานค่าเตือนภัยมลพิษอากาศ จะใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ที่มีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ) รณรงค์ และใช้ คำว่า “ฝุ่นควัน” แทน “หมอกควัน” ให้สังคมเกิดความตระหนักต่อพิษภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมากขึ้น สืบสาน และ ดำเนินกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์สมาชิกและภาคประชาชนได้ทำมาก่อนหน้าต่อไป อาทิ “โครงการเขียวสู้ฝุ่นปลูกต้นไม้ล้านต้น” “โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส ปลูกไผ่” “โครงการเห็ดเพาะลดพื้นที่เผา” “โครงการชิงเก็บ-ใช้ประโยชน์จากใบไม้” ฯลฯ ส่วนโครงการแก้ปัญหาระยะยาว ผสานความร่วมมือหลายภาคส่วน (พอช./ประชาชน/กกร./สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.ช.) ปรับเปลี่ยนและพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล บนหลักการ “เข้าถึง เข้าใจ สมานฉันท์ เพื่อสร้างชีวิตและนิเวศอย่างยั่งยืน”

รศ.ดร.ชยันตร์ วรรธนะภูติ อาจารย์แระจำศูนย์ภูมิภาคศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มิติด้านกฎหมายและระเบียบทางราชการ นับว่ามีความสำคัญมากในการแก้ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่ โดยปัญหานี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ การปลูกพืช รูปแบบวิธีทำการเกษตรของไทยและในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นควัน ทั้งนี้ จะต้องใช้พลังความรู้เชิงวิชาการที่จะนำมาแก้ปัญหานี้

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและมีผลถึงชีวิตในระยะสั้นและระยะยาว โดยพบว่าวิกฤติฝุ่นควันที่เพิ่งผ่านไปเมื่อต้นปี 2562 ส่งผลให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวน 225 ราย ขณะที่ปี 2561 มีผู้ป่วยเสียชีวิต 107 ราย ปี 2560 มีผู้ป่วยเสียชีวิต 93 ราย ซึ่งระดับการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากหลายเท่า ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคหัวใจและโรคระบบทางเดินหายใจเป็นสำคัญ

ด้านนายวิทยา ครองทรัพย์ กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเอกชน โดย กกร.จังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นพลังในการร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่อย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนและผลักดันเพื่อนำไปสู่การมีกฎหมายอากาศสะอาด